วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

หลักคุณธรรม จริยธธรรม ศีลธรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาบุคลิกภาพ


หลักคุณธรรม จริยธธรรม ศีลธรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาบุคลิกภาพ*


คุณธรรม (Moral Principles)

           คุณธรรม คือ ความดีงามในจิตใจที่ทำให้บุคคลประพฤติดี ผู้มีคุณธรรมเป็นผู้มีความเคยชินใน การประพฤติดีด้วยความรู้สึกในทางดีงาม คุณธรรมเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับกิเลสซึ่งเป็นความไม่ดีในจิตใจ ผู้มีคุณธรรมจึงเป็นผู้ที่ไม่มาก ด้วยกิเลสซึ่งจะได้รับการยกย่องว่าเป็นคนดี
           คุณธรรมตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อกล่าวถึงคุณธรรมโดยทั่วไปจะระบุชื่อคุณธรรมว่าความละอายแก่ใจ ความเมตตากรุณา ความหวังดี ความซื่อสัตย์สุจริต ความเห็นอกเห็นใจ ความจริงใจ ความยุติธรรม ความเที่ยงตรง ความเสียสละ ความสามัคคี ความอดทน ความอดกลั้น ความขยัน การให้อภัย ความเกรงใจและอื่น ๆ การฝึกฝน และปฏิบัติตนให้มีคุณธรรม ไม่จำเป็น    ต้องพะวงในการเรียกชื่อคุณธรรม เพราะเป็นสิ่งที่ดีที่ทุกคนสามารถยึดถือปฏิบัติได้โดยไม่ต้องคำนึงว่า      เป็นของลัทธิใด การฝึกฝนคุณธรรมควรฝึกตาม ความต้องการและสภาพแวดล้อม ประเทศไทยในสมัย   ปัจจุบันกำลังมุ่งปลูกผังคุณธรรมสำหรับประชาชน ๔ ประการ เพื่อความร่มเย็นของชาติบ้านเมืองตาม        พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนี้
           ๑. การรักษาความสัตย์ ความจริงใจต่อตัวเองที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็น ประโยชน์และเป็นธรรม
          
๒. การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเองให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัตย์ความดีนั้น
         
๓. การอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัตย์สุจริตไม่ว่าจะด้วยประการใด
         
๔. การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง
           คุณธรรมตามแนวคิดของอริสโตเติล อริสโตเติลนักปราชญ์ชาวกรีก ได้ให้แนวทางของคุณธรรมหลัก ๆ ไว้ ๔ ประการ คือ
                      ๑. ความรอบคอบ คือ รู้ว่าอะไรควรประพฤติปฏิบัติ อะไรไม่ควรประพฤติปฏิบัติ
                      
๒. ความกล้าหาญ คือ ความกล้าเผชิญต่อความเป็นจริง
                      
๓. การรู้จักประมาณ คือ รู้จักควบคุมความต้องการและการกระทำให้เหมาะสมกับสภาพและฐานะของตน
                      
๔. ความยุติธรรม คือ การให้แก่ทุกคนตามความเหมาะสม
           การพัฒนาบุคคลด้วยคุณธรรมต้องฝึกฝนให้มีความรู้สึกตระหนักว่าอะไรดี อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรไม่ดี และปฏิบัติแต่ในทางที่ถูกที่ควรให้เป็นปกติวิสัย การพัฒนาในสิ่งดังกล่าวควรใช้สิ่งโน้มนำให้มีคุณธรรมสูง มีความระลึกได้ว่าอะไรไม่ควร และความรู้สึกตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ ผู้หวังความสงบสุขความเจริญและความมั่นคงแก่ตนเองและประเทศชาติ ต้องฝึกฝนตนเองให้มีคุณธรรม คุณธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมากสำหรับบุคลากรที่พึงประสงค์ขององค์การ องค์การควรให้การส่งเสริมสนับสนุนและชักจูงให้บุคลากรขององค์การสนใจคุณธรรมและพร้อมปฏิบัติกับชีวิตการทำงานของตนเอ'


จริยธรรม (Ethics)
           จริยธรรม เป็นสิ่งที่ควรประพฤติ มีที่มาจากบทบัญญัติหรือคำสั่งสอนของศาสนา หรือใครก็ได้ที่เป็นผู้มีจริยธรรม และได้รับความเคารพนับถือมาแล้ว
           ลักษณะของผู้มีจริยธรรม ผู้มีจริยธรรมจะเป็นผู้ที่มีคุณลักษณะดังนี้
                      ๑. เป็นผู้ที่มีความเพียรความพยายามประกอบความดี ละอายต่อการปฏิบัติชั่ว
                      ๒. เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต ยุติธรรม และมีเมตตากรุณา
                      ๓. เป็นผู้มีสติปัญญา รู้สึกตัวอยู่เสมอ ไม่ประมาท
                      ๔. เป็นผู้ใฝ่หาความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพ เพื่อความมั่นคง
                      ๕. เป็นผู้ที่รัฐสามารถอาศัยเป็นแกนหรือฐานให้กับสังคม สำหรับการพัฒนาใด ๆ ได้
           แนวทางการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมที่กำหนดโดยรัฐบาล จากคุณสมบัติของผู้มีจริยธรรมดังกล่าว แสดงถึงความเป็นคนมีคุณภาพ มีภาวะความเป็นผู้นำ อันเป็นที่ต้องการขององค์การและสังคมทุกระดับ รัฐบาลไทยได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพของประชาชนในด้านจริยธรรมและคุณธรรมในสังคม จึงได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ ๘ โดยเน้นการพัฒนาจิตใจในลักษณะที่สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน ซึ่งผลที่ปรากฏในปัจจุบันก็คือ มีการเผยแผ่ธรรมะทางสื่อต่าง ๆ มากมาย วัดวาอารามก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมส่วนช่วยในการอบรมสั่งสอนด้วย จริยธรรมเป็นจริยสมบัติ หน่วยงานต่าง ๆ ก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี คนไทยวัยหนุ่มสาวและเยาวชนได้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก จากที่เห็นได้จากสื่อและข่าวต่าง ๆ เนื่องจากจริยธรรมเป็นคุณสมบุติที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการวัดคุณภาพของคน ซึ่งมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชากรทั้งประเทศ รัฐบาลจึงได้กำหนดแนวทางการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมไว้ดังนี้
                      ๑. พัฒนาจิตใจประชากรกลุ่มเป้าหมาย โดยให้ผู้นำแต่ละกลุ่มเป็นผู้บริหารเปลี่ยนแปลง
                      ๒. ให้สถาบันของสังคมและครอบครัวทำหน้าที่อันถูกต้อง ชอบธรรมของตนเอง แก้ไขข้อบกพร่องโดยรีบด่วน
                      ๓. บรรจุการพัฒนาจิตใจในหลักสูตร การฝึกอบรมทุกหลักสูตร และให้ดำเนินการพัฒนาต่อเนื่องต่อไป
                      ๔. ให้มีการพัฒนาวิธีปลูกฝัง อบรม สั่งสอนศีลธรรม จริยธรรม ตามความเหมาะสมของกลุ่มเป้าหมายให้เป็นที่น่าสนใจ
                      ๕. สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมของสังคมอันได้แก่ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่ถูกต้องดีงามตามหลักศีลธรรมและจริยธรรม
           นอกจากการพัฒนาของรัฐบาลดังกล่าว องค์การควรได้ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรขององค์การในวิธีเดียวกันในองค์การอีกแห่งหนึ่ง เพื่อให้บุคลากรขององค์การเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่พึงประสงค์ขององค์การและประเทศชาติโดยแท้จริง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยวิธีดังกล่าวอาจเป็นส่วนหนึ่งสำหรับการพัฒนาองค์การ ที่สำคัญก็คือองค์การควรให้มีการสร้างบรรยากาศหรือสภาวะแวดล้อมในการทำงานให้ดีด้วย ดังเช่นไม่ให้คนมีงานทำมากเกินไป หรือน้อยเกินไป การพิจารณาความดีความชอบให้มีความยุติธรรม และส่งเสริมด้วยมนุษยสัมพันธ์ภายในองค์การด้วย ซึ่งบรรยากาศที่ดีจะช่วยการพัฒนาจิตใจ ในด้านสถาบันการศึกษาก็ควรได้มีการบรรจุหลักคุณธรรมไว้ในหลักสูตร เพื่อเป็นการพัฒนาและให้การศึกษากับคนทั้งชาติ เพื่อการพัฒนาจิตใจของคนในชาติให้มีคุณภาพ


ศีลธรรม (Morality)
           ศีลธรรม มีความหมายคล้ายกันกับจริยธรรม คือเป็นเรื่องของความควรไม่ควรของพฤติกรรม ซึ่งเป็นเรื่องของมาตรฐานแห่งความประพฤติของบุคคล ศีลธรรมมีความโน้มเอียงที่จะเกี่ยวข้องกับทางศาสนาหรืออำนาจศักดิ์สิทธิ์ ส่วนจริยธรรมเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมนุษยธรรมอันเป็นหลักปฏิบัติที่ถือว่าดีอยู่ในตัวเอง ศีลธรรมของทุกศาสนาเป็นข้อดีสำหรับยึดถือปฏิบัติทั้งสิ้น ศีลธรรมจึงเป็นคุณธรรม ศาสนาแต่ละศาสนาได้ระบุคุณธรรมและชื่อกิเลสไว้มากมาย ผู้ที่มีศีลธรรมก็คือผู้ที่มีคุณธรรม
           คุณธรรมที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดคุณธรรมไว้ประกอบ ที่ถือว่าเป็นมิตรที่ดีงามของคนทั่วไปเรียกว่ากัลยาณมิตร คือ
                      ๑. เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อมั่นในสิ่งที่ควรเชื่อ
                      ๒. เป็นผู้มีศีล ประพฤติดี ประพฤติชอบ ไม่ทำชั่ว
                      ๓. เป็นผู้มีการศึกษาอบรมดี
                      ๔. เป็นผู้มีการสละให้ปัน
                      ๕. เป็นผู้มีสติ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
                      ๖. เป็นผู้มีความเพียร
                      ๗. เป็นผู้มีสมาธิ มีจิตใจมั่นคง
                      ๘. เป็นผู้มีปัญญา หยั่งรู้ว่าสิ่งใดดี ไม่ดี
            การพัฒนาด้วยศีลธรรมรัฐได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาทางจิตใจของประชากรจนได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ ดังที่กล่าวมาแล้วในเรื่องการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม การพัฒนาด้านศีลธรรมนอกจากจะเป็นหน้าที่ของสถาบันทางสังคมแล้ว ยังเป็นหน้าที่ขององค์การที่จะให้การสนับสนุน อบรมและสร้างบรรยากาศให้บุคลากรได้รับการพัฒนาทางด้านจิตใจให้เป็นผู้ที่มีศีลธรรมประจำใจ จะทำอะไรจะได้ยึดศีลธรรมเป็นหลักในการตัดสินใจ การที่บุคคลในองค์การ มีคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรมประจำใจอยู่ในตัวจะมีผลให้บุคคลนั้นเป็นบุคคลที่มีบุคลิกภาพดีรู้จักตนเองมีความพร้อมและรู้จักที่จะพัฒนาบุคลิกภาพของตนเองเป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นผลทำให้ทรัพยากรมนุษย์ของชาติได้รับการพัฒนาโดยส่วนรวม ซึ่งจะทำให้เกิดความผาสุกขึ้นในสังคมไทยอันเป็นที่รักของเราทุกคน     (ที่มา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย   วัดบวรนิเวศวิหาร แขวงบวรนิเวศ ถนนพระสุเมรุ เขตพระนครกรุงเทพฯ 10200)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น