วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556

บทที่ 1 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับบุคลิกภาพ

ความหมายของบุคลิกภาพ คำว่า “บุคลิกภาพ” เป็นคำที่ใช้กันแพร่หลายจนเกือบกล่าวได้ว่าแต่ละบุคคลที่ใช้คำว่า “บุคลิกภาพ” มีคำจำกัดความของตนเองเกี่ยวกับคำนี้ เช่น ถ้าจะถามคำถามโดยสุ่มตัวอย่างจากคนทั่วไปให้อธิบายคนที่มี “บุคลิกภาพดี” และคนที่มี “บุคลิกภาพไม่ดี” คือบุคคลอย่างไร จะได้คำตอบที่แตกต่างกัน สำหรับนักจิตวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับ “บุคลิกภาพ” มีความจำเป็นที่จะใช้คำจำกัดความของคำว่าบุคลิกภาพที่ตนเองเลื่อมใสด้วย บุคลิกภาพ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Personality มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ Persona (Per + Sonar) ซึ่งหมายถึง Mask แปลว่าหน้ากากที่ตัวละครใช้สวมใส่ในการเล่นเป็นบทบาทแตกต่างกันไปตามได้รับ (นักศึกษาจะแก้บุคลิกและนิสัยที่ไม่ดีบางอย่างของตัวเราได้อย่างไร?, เราจะป้องกันบุตรหลานของเราไม่ให้เป็นคนเปราะบางหรือมีนิสัยบางอย่างที่ไม่น่ารัก ไม่น่าคบได้อย่างไร?, ทำไมเรารู้สึกชื่นอกชื่นใจเมื่ออยู่ใกล้ ๆ คนบางคน,คนชนิดไหนที่เราอยากเลือกเป็นเพื่อนสนิทหรือคู่รักของเรา, ตัวของเราเหมาะสมกับงานประเภทใด (ที่มา ศ.ดร.ศรีเรือน แก้วกังวาล) ความหมายหรือคำจำกัดความของคำว่า “บุคลิกภาพ” ที่ยอมรับโดยทั่วไป คือคุณลักษณะ ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคลแสดงออกโดยพฤติกรรมที่บุคคลนั้นมีต่อสิ่งแวดล้อมที่ตนกำลังเผชิญอยู่ และพฤติกรรมนี้จะคงเส้นคงวาพอสมควร นักจิตวิทยาหลายท่านได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “บุคลิกภาพ” ไว้ดังนี้ คลักฮอห์น (Kluckhohn) ได้กล่าวว่าบุคลิกภาพของมนุษย์ทั่วไปจะมีลักษณะร่วม ที่เหมือนกันในฐานะเป็นมนุษย์ และจะมีลักษณะส่วนหนึ่งที่คล้ายกับทุกคนในสังคมและวัฒนธรรมที่ตนเป็นสมาชิก แต่ขณะเดียวกันจะมีคุณสมบัติที่พิเศษเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เช่น คนไทยคนใดคนหนึ่งจะมีบุคลิกภาพส่วนตัวร่วมกับ “มนุษย์” โดยทั่วไป และจะมีบุคลิกภาพของตน ออลฟอร์ต (Allphort) ให้คำจำกัดความของคำว่า “บุคลิกภาพ” ว่าเป็นการจัดและรวบรวมเกี่ยวกับระบบทางร่างกายและจิตใจ (Psychophysical systems) ภายในตัวของแต่ละบุคคล และจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ยังส่งผลให้แต่ละคนมีการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำ แบบใคร ฮิลการ์ด (Hilgard) ได้ให้ความหมายของบุคลิกภาพว่า หมายถึงลักษณะส่วนรวมของบุคคลแต่ละคนอันเป็นแนวทางในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ซึ่งแต่ละคนมีรูปแบบของ การแสดงออกของพฤติกรรมต่าง ๆ กัน เบอร์นาร์ด (Bernard) ได้ให้ความหมายของบุคลิกภาพว่า หมายถึง ผลรวมทั้งหมดของท่าทาง รูปร่างลักษณะทางกาย พฤติกรรมที่แสดงออก แนวโน้มการกระทำ ขอบเขตความสามารถทั้งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในและที่แสดงออกมา ฮาร์ดแมน (Hartman) ได้ให้ความหมายของบุคลิกภาพว่า หมายถึง ส่วนรวมทั้งหมดที่บุคลิกแสดงออกโดยกิริยาอาการ ความนึกคิด อารมณ์ นิสัยใจคอ ความสนใจ การติดต่อกับผู้อื่น ตลอดจนรูปร่างหน้าตา การแต่งกาย และความสามารถในการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น บุคลิกภาพ หมายถึง คุณลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล แสดงออกโดยพฤติกรรมที่บุคคลนั้นมีต่อสิ่งแวดล้อมที่ตนกำลังเผชิญอยู่ และพฤติกรรมนี้จะคงเส้นคงวาพอสมควรลักษณะของแบบแผนพฤติกรรมและแบบแผนการคิดที่เป็นตัวกำหนดลักษณะเฉพาะบุคคลในการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อม มนุษย์แต่ละคนมีบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน ไม่มีใครเหมือนกันไปทุกอย่าง แม้พี่น้องหรือฝาแฝดก็ตาม ทั้งนี้เพราะมนุษย์แต่ละคนมีความพิเศษและความเป็นหนึ่งในตัวขอแต่ละคน (Unique) จากการศึกษาพบว่าบุคลิกภาพ มีความหมายถึง ลักษณะพฤติกรรมโดยรวมของแต่ละบุคคล ที่แสดงออกท่าทาง ทางความคิด ทางอารมณ์ ได้แก่ การแสดงท่าทาง กิริยา มารยาท การแต่งกาย ความนึกคิด ความเฉลียวฉลาด ความมีน้ำใจ ความเข้าใจ ความสำรวม การแสดงอารมณ์ การวางตนในการสมาคม ซึ่งเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อผู้พบเห็นโดยทั่วไปบุคลิกภาพของมนุษย์จะแสดงลักษณะของบุคคลนั้น ๆ ในด้านต่อไปนี้ 1. ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตน (Individuality) ลักษณะที่ทำให้คนนั้นแตกต่างไป จากคนอื่น ๆ เช่น พูดจาโผงผา โอบอ้อมอารี หรือรักสนุก ฯลฯ 2. ความคงเส้นคงวา (Consistency) ของพฤติกรรม เป็นแนวโน้มที่บุคคลมักแสดงพฤติกรรมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งทุกครั้งหรือบ่อยครั้ง เช่น บางคนเวลาโกรธจะเงียบไม่ยอมพูดจา หรือบางคนโกรธแล้วชอบกรีดร้องและทำลายขว้างปาสิ่งของ เป็นต้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 บุคลิกภาพ หมายถึงสภาพสิันจําเพาะคน สรุป บุคลิกภาพ หมายถึงลักษณะโดยรวมของแต่ละบุคคลหรือลักษณะเฉพาะตัวของบุคคลในด้านต่าง ๆทั้งลักษณะภายในและภายนอกและปัจจัยต่างๆอันมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของผู้พบเห็น ส่วนภายนอก คือส่วนที่มองเห็นชัดเจน เช่น รูปร่าง หน้าตา กิริยามารยาท การแต่งตัว วิธีพูดจา การยืน การนั่ง ฯลฯ ส่วนภายใน คือส่วนที่มองเห็นได้ยาก แต่อาจทราบได้โดยการอนุมาน เช่น สติปัญญา ความถนัด ลักษณะอารมณ์ประจำตัว ความใฝ่ฝันปรารถนา ปรัชญาชีวิต ค่านิยม ฯลฯ ลักษณะทั่วไปของบุคลิกภาพ โดยทั่วไปนักจิตวิทยาได้แบ่งบุคลิกภาพของบุคคลไว้ 2 ประเภท คือ 1. บุคคลที่มีบุคลิกภาพเปิดเผย (Extrovert) คือ บุคคลที่ชอบที่จะแสดงตัวเองต่อสังคม ต้องการการยอมรับ ชอบที่จะเป็นผู้นำ และเข้ากับผู้อื่นได้ง่าย มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ไม่ค่อยเก็บความรู้สึก 2. บุคคลที่มีบุคลิกภาพเก็บตัว (Introvert) คือ บุคคลที่ไม่กล้าแสดงออก ชอบที่จะเก็บตัวเอง เป็นนักคิดนักฝัน เก็บความรู้สึกได้ดี มักเป็นคนเจาอารมณ์ มีความวิตกกังวลและค่อนข้างมองโลกในแง่ร้าย ขอบข่ายของบุคลิภาพ 1. ลักษณะทางกาย ได้แก่ รูปร่าง รูปทรง หน้าตา ผิวพรรณ สีผล ความสูง น้ำหนัก ท่าทาง ความปกติขงอวัยวะ ความสมดุลย์ของโครงสร้างร่างกาย กิริยาท่าทาง 2. ลักษณะทางใจ ได้แก่ อารมณ์ สติปัญญา ความจำ จินตนาการ ความถนัด ความสนใจ ความตั้งใจ การคิดด้วยเหตุผลการตัดสินใจ ความอดทน ความเบื่อหน่าย ความโกรธ ความมีน้ำใจ ความกล้า ความกังวล การตกใจ การมีคุณธรรม 3. ลักษณะทางการพูด ได้แก่ การใช้ภาษาพูด การเปล่งเสียง การสื่อสาร ประโยชน์ของการพัฒนาบุคลิกภาพ 1. การมีภาพลักษณ์ที่ดี 2. การเป็นที่ยอมรับของบุคคลอื่น 3. ความเจริญในการงาน ความสําคัญของการเรียนรู้บุคลิกภาพ บุคลิกภาพ มีความสําคัญต่อการดํารงชีวิตในสังคมเป็นอย่างมากดังจะพิจารณาได้จากประเด็น ดังนี้ 1. ความมั่นใจ ผู้มีบุคลิกภาพดีจะมีความมั่นใจในการแสดงออกมากขึ้น และมีโอกาสที่จะประสบความสําเร็จจึงมีมากขึ้น 2. การยอมรับของกลุ่มผู้ที่มีบุคลิกภาพดีย่อมเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป และต้องการที่จะให้อยู่ในกลุ่ม 3. การปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่น การที่เรารู้บุคลิกภาพของผู้อื่น ทําให้เราสามารถปรับตัวเข้ากับบุคคล และสถานการณ์ได้ดีขึ้น รวดเร็วขึ้น ง่ายขึ้น 4. ความสําเร็จ ผู้ที่มีบุคลิกภาพดีจะได้เปรียบคนอื่นเสมอ เพราะสามารถสร้างความศรัทธาน่าเชื่อถือแก่ผู้พบเห็น ได้รับความร่วมมือและการติดต่อด้วยดีช่วยให้ทํางานได้สําเร็จง่ายขึ้น 5. เอกลักษณ์ของบุคคล บุคลิกภาพทําให้คนมีลักษณะเฉพาะตัวซึ่งสามารถใช้เป็นแบบอย่างที่ดีและแบบอย่างที่ไม่ดีได้ องค์ประกอบและโครงสร้างของบุคลิกภาพ 1. ลักษณะทางกายได้แก่รูปร่าง หน้าตาสัดส่วน ผิวพรรณ สีผมความสูง น้ําหนักเป็นลักษณะประจําตัวของบุคคล 2. ลักษณะทางใจ ได้แก่ความคิดความจํา จินตนาการความสนใจความตั้งใจการตัดสินใจสติปัญญาเป็นเรื่องเกี่ยวกับสมอง 3. อุปนิสัยได้แก่ความสุภาพอ่อนโยน ความซื่อสัตย์เชื่อถือได้ความเคารพสิทธิส่วนบุคคลไม่เห็นแก่ตัวมีศีลธรรมจรรยาซึ่งเป็นกิริยาที่สอดคล้องกับสภาพของสังคม 4. อารมณ์ได้แก่ความรู้สึกแห่งจิตที่ก่อให้เกิดอาการต่างๆเช่น ตื่นเต้น ตกใจโกรธกล้าหาญหวาดกลัวร่าเริง หดหู่ หงุดหงิดวิตกกังวล ฯลฯ 5. การสมาคมคือกิริยาท่าทีอาการที่บุคคลแสดงต่อผู้อื่น เช่น เป็นคนชอบคบหาสมาคมกับผู้อื่นหรือเป็นคนเก็บตัวเห็นใจผู้อื่น ไม่แยแสผู้อื่น ฯลฯ ซิกมันด์ ฟรอยด์ โครงสร้างของบุคลิกภาพ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ได้แบ่งโครงสร้างทางบุคลิกภาพของมนุษย์ออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย อิด (Id) อีโก (Ego) และซุปเปอร์อีโก (Superego) อิด (Id) เป็นส่วนประกอบพื้นฐานของบุคลิกภาพ ประกอบด้วยลักษณะทางจิตทุกอย่างที่มีมาแต่กำเนิด เป็นแหล่งพลังทางจิต (psychic energy) รวมถึงพลังทางเพศ ที่ฟรอยด์ เรียกว่า ลิบิโด (libido) รวมทั้งสัญชาตญาณต่าง ๆ ด้วย อิดเป็นส่วนที่ไม่มีเหตุผล (irrational) และทำงานตามหลักความพอใจ (pleasure principle) เนื่องจาก อิดจะไม่ทนทานต่อการเพิ่มพลังงานที่เกิดจากความกดดัน ดังนั้น เมื่อมีความเครียด อิดจำเป็นต้องขจัดความเครียด โดยใช้หลักแห่งความพอใจ (pleasure principle) เพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด การทำงานของอิดประกอบด้วย 2 กระบวนการ คือ ปฏิกิริยาสะท้อน (reflex action) ซึ่งเกิดโดยอัตโนมัติและมีมาตั้งแต่เกิด เช่น การจาม การกะพริบตา เป็นต้น ส่วนกระบวนการที่สอง คือ กระบวนการปฐมภูมิ (primary process) เป็นปฏิกิริยาทางจิตที่พยายามลดความตึงเครียด โดยการวาดมโนภาพของวัตถุ เป็นการเคลื่อนย้ายความตึงเครียด วิธีนี้เป็นการชะลอความตึงเครียดเท่านั้น ไม่สามารถขจัดความ ตึงเครียดได้จริง อีโก (Ego) เป็นส่วนของจิตที่เกิดจากความต้องการ ที่จะตอบสนองความต้องการตามโลกแห่งความเป็นจริง อีโกเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ให้บุคคลมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ อย่างมีเหตุผลและตามความเป็นจริง อีโกจึงทำงานบนฐานแห่งความเป็นจริง (reality principle) ซึ่งเป็นกระบวนการทุติยภูมิ (secondary process) โดยพยายามควบคุม อิด (Id) ให้อยู่ในร่องในรอย ซุปเปอร์อีโก (Superego) เป็นความรู้สึกนึกคิด ที่เกิดขึ้นภายในใจของบุคคล เป็น มโนธรรมซึ่งประกอบด้วย ค่านิยม ศีลธรรม ประเพณี และอุดมคติของสังคม ที่บุคคลได้รับถ่ายทอดจากพ่อแม่ ซุปเปอร์อีโกจึงทำหน้าที่อยู่บนฐานของอุดมคติ มีเป้าหมายที่จะควบคุมหรือยับยั้งแรงกระตุ้นจากอิด และหว่านล้อมให้อีโกเปลี่ยนเป้าหมายแห่งความเป็นจริงเป็นคุณธรรม ตลอดจนพยายามเหนี่ยวนำให้เกิดความสมบูรณ์ในตนเอง การพิจารณาบุคลิกภาพ การพิจารณาบุคลิกภาพมักจะพิจารณา 3 อย่างดังนี้ 1. อุปนิสัยของบุคคล ที่สำคัญ ได้แก่ 1.1. ความกล้ากับความรอบคอบ คนกล้าตัดสินใจเร็ว เพื่อการกระทำต่อสู้แต่ละคนรอบคอบจะไม่ตัดสินใจอะไร จะหาลู่ทางถี่ถ้วน เชื่องช้า แต่ได้ผลสมบูรณ์ 1.2. ความเยือกเย็นกับความเจ้าอารมณ์ คนเยือกเย็นไม่มีการวินิจฉัยปัญหาด้วยอารมณ์ คนเจ้าอารมณ์จะแสดงออกมา โกรธง่ายหายเร็ว 1.3. การคิดการณ์ไกล กับการคิดเฉพาะหน้า ผู้คิดการไกลจะไม่ยอมรับผลเฉพาะหน้า ตัดสินใจช้า รอบคอบ ส่วนคนคิดเฉพาะหน้าจะไม่รั้งรออะไรตัดสินใจเร็ว โดยไมมีการวางแผนล่วงหน้า ถ้าไม่ทำก็เลิกทำไปเลย 1.4 .การฝักใฝ่ทางศิลปะกับการเป็นนักปฎิบัติ คนที่เป็นนักศิลปะจะมีความอ่อนไหว รักวัยงาม บางครั้งจะเจ้าอารมณ์ เอาแต่ใจ ส่วนนักปฏิบัติการไม่คำนึงถงความงาม คิดถึงผลประโยชน์อย่างรวดเร็ว 2. คุณสมบัติประจำตัว ลักษณะประจำตัวจึงมีเขตกว้างขวางอย่างอุปนิสัยมาก ลักษณะประจำตัวหมดโดยส่วนรวมของแต่ละคน ถือว่า เป็นบุคลิกภาพของบุคคลนั้นๆ 3. บทบาทของบุคคล ทุกคนที่มีสถานภาพ มีตำแหน่ง หน้าที่ และมีบทบาท คนที่แสดงบทบาทที่เหมาะสมย่อมแสดงผลให้คนๆนั้นเป็นคนที่มีบุคลิกภาดี ถ้าบทบาทไม่ขัดแย้งกันก็จะไม่มีปัญหาขัดแย้งกันนัก แต่ถ้าขัดแย้งก็จะมีปัญหาทางบุคลิกภาพ บางอย่างถ้าหนักเลยต้องลดการแสดงบางอย่าง (ที่มานิตยสาร ชีวจิต) การเรียนรู้ทางสังคมและการพัฒนาบุคลิกภาพ ในยุคปัจจุบันได้มีการศึกษาบุคลิกภาพอย่างเป็นวิทยาศาสตร์แต่การศึกษาโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น ก็ยังไม่สามารถอธิบายบุคลิกภาพของมนุษย์ได้ถี่ถ้วนทุกแง่มุม วิชาการพัฒนาบุคลิกภาพในยุคแรก ๆ ผู้ประกาศทฤษฎีบุคลิกภาพส่วนใหญ่ มักได้รับการศึกษาอบรมและประกอบอาชีพนายแพทย์และจิตแพทย์ส่วนเป็นส่วนใหญ่ เช่น ฟรอยดื และ จุง เป็นต้น คำอธิบายเกี่ยวกับทฤษฎีบุคลิกภาพในยุคต้นๆจึงมักจะได้ข้อมูลจากการสังเกตศึกษาบุคคลในคลีนิก ซึ่งบุคคลเหล่านี้มักอยู่ในสภาพหรือมีลักษณะเป็นผู้มีอารมณ์หวั่นไหวไมมั่นคงอย่างหนักในระยะต่อ ๆ มา บุคคลที่มีความสามารถในวิชาชีพอื่น ๆ ก็ได้ลงมือศึกษาวิชาบุคลิกภาพเช่นกันเพราะทฤษฎีเกี่ยวกับบุคลิกภาพที่ได้ศึกษาค้นคว้ามายังไม่เพียงพอที่จะเข้าใจมนุษย์ในทุกรูปแบบได้ บุคคลอื่นๆที่นำมาเสนอพอเป็นตัวอย่าง อาทิ นักวิทยาศาสตร์(เช่น ไอแซงค์) นักสังคมวิทยา(เช่น ฟรอมม์) นักสถิติ (เช่น แคทเทลล์) และนักจิตวิทยาสาขาต่างๆ โดยตรง (เช่น สกินเนอร์และโรเจอร์) ข้อมูลคือบุคคลที่นำมาเป็นแบบเพื่อศึกษาก็ขยายประเภทไปอย่างกว้างขวาง คือไปสู่บุคคลปกติธรรมดาทั้งเด็กและผู้ใหญ่บ้าง บุคคลผู้มีชื่อเสียงเป็นผู้นำทางความคิดในประวัติศาสตร์บ้าง บุคคลที่ได้รับคำยกย่องในสายวิชาชีพต่างๆบ้าง ชนกลุ่มล้าหลัง เช่น ชาวเกาะ ชาวอินเดียนแดง ชาวเขา ฯลฯ ส่วนวิธีการศึกษาก็มีความละเอียดละออ สลับซับซ้อน ประณีตมากขึ้น ๆ ผลที่ได้จากพัฒนาการวิชาการนี้ก็คือ เกิดแนวคิดเกี่ยวกับบุคลิกภาพของมนุษย์มากมายหลายทฤษฎีสุดจะพรรณนาได้หมดสิ้น ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพ 1. พันธุกรรม สิ่งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมส่วนมากนั้นเป็นลักษณะทางกาย เช่น ความสูงต่ำ ลักษณะเส้นผม สีของผิว ชนิดของโลหิต โรคภัยไข้เจ็บบางชนิด และข้อบกพร่องทางร่างกายบางชนิด เช่น ตาบอดสี ศีรษะล้าน นิ้วเกิน มือติดกัน ฯลฯ สำหรับลักษณะทางกาย ดังกล่าวนี้ เป็นอิทธิพลของพันธุกรรมที่มีต่อบุคลิกภาพของแต่ละบุคคลทั้งสิ้น นอกจากนี้ นักจิตวิทยาบางท่าน เช่น เครชเมอร์ (Kretschmer) และเชลดอน (Sheldon) ได้กล่าวไว้ว่า ลักษณะทางกายสามารถบ่งบอกถึงลักษณะทางจิตในบางประการได้ เช่น พวกที่มีร่างกายผอมสูง แขนขายาว มักจะไม่ทุกข์ร้อน ชอบคิดฝัน แต่ถ้าจิตใจผิดปกติก็จะมีแนวโน้มที่จะแยกตัวเองออกจากสังคม และมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นต้น อย่างไรก็ตามพัฒนาการไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการทางร่างกาย พัฒนาการทางบุคลิกภาพ ล้วนอยู่ใต้อิทธิพลทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน เพียงแต่ว่าพัฒนาการบางชนิดอยู่ใต้อิทธิพลทางพันธุกรรมมากกว่าสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งแวดล้อมมากกว่าพันธุกรรม 2. สิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อพัฒนาการของมนุษย์ ทั้งพัฒนาการทางกาย ทางจิตใจและบุคลิกภาพ สำหรับสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อพัฒนาการของมนุษย์ก็คือบุคลิกภาพอื่น ๆ รอบ ๆ ตัวเรา ครอบครัว กลุ่มคน และวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมที่เป็นมนุษย์ คนอื่น ๆ นี้ จะมีอิทธิพลอย่างมากมายต่อการพัฒนาทางบุคลิกภาพ ทัศนคติ และพฤติกรรม ทางสังคมของมนุษย์ สำหรับลักษณะต่าง ๆ ของบุคลิกภาพของแต่ละบุคคลนั้น สามารถพัฒนาจากการเรียนรู้ทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล ได้แก่ ครอบครัว โรงเรียน กลุ่มคนประเภทต่าง ๆ สังคม และวัฒนธรรม นอกจากนี้ นักจิตวิทยาพัฒนาการเชื่อว่า การถ่ายทอดลักษณะทางสังคมจากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งนี้ ทำได้โดยผ่านตัวแทนกลุ่มตัวอย่าง เช่น บิดาหรือมารดาจะถ่ายทอดให้บุตร ครูถ่ายทอดให้นักเรียน พี่ให้น้อง เพื่อนให้เพื่อน เป็นต้น การถ่ายทอดทางสังคมนี้ ส่วนมากเกิดจากการเรียนรู้และการเลียนแบบ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กอาจจะตั้งใจสอนเด็ก ให้รู้จักมารยาทและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ทางสังคมทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ เกิดการปฏิบัติตาม แต่มีบางครั้งที่ไม่จงใจสอนแต่เด็กก็เรียนรู้โดยบังเอิญ เช่น การมีทัศนคติต่อคนประเภทต่าง ๆ หรือการมีบุคลิกภาพบางประเภท ก็อาจจะเกิดจากการได้รับความสนับสนุนโดยบังเอิญจากบุคคลอื่นเช่นกัน นอกจากนี้ การเลียนแบบยังเป็นการเรียนรู้ทางสังคมที่สำคัญที่สุดอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งสามารถอธิบายการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมและการกระทำต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น การปลูกฝังค่านิยมทางสังคม การสร้างลักษณะทางบุคลิกภาพต่าง ๆ ตลอดจนถึงการมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และการบังคับตนเอง 3.3 ช่วงเวลาในชีวิตของบุคคล แสดงถึงระดับการพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจ อันเกิดจากอิทธิพลร่วมระหว่างพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ระดับพัฒนาการนี้จะเริ่มมีขึ้นตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา อิริคสันเชื่อว่าการพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์นั้น มิได้หยุดอยู่แค่วัยเด็ก แต่มีการพัฒนาลักษณะต่าง ๆ ของบุคลิกภาพอย่างเป็นลำดับตลอดช่วงชีวิต วัยทารกหรือขวบปีแรกของชีวิต จะเป็นวัยที่เพาะลักษณะความไว้วางใจบุคคลอื่น ซึ่งจะเป็นลักษณะถาวรของบุคคลต่อไป บุคลิกภาพอื่น ๆ เช่น ความเป็นอิสระ ความคิดริเริ่ม ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ความขยันหมั่นเพียร ความเข้าใจและรู้จักตนเอง ความเต็มใจที่จะผูกพันกับบุคคลอื่น ความสามารถในการสร้างหลักฐาน และทำประโยชน์ให้แก่ตนเอง และบุคคลอื่น ความมั่นคงสมบูรณ์ในตนตลอดทั้งความเชื่อในคุณค่าของการทำประโยชน์ให้กับมวลชนก็จะเกิดผลมากน้อยในช่วงต่าง ๆ ของชีวิตบุคคลเป็นลำดับจนถึงช่วงสุดท้ายคือวัยสูงอายุ ช่วงที่ผู้มีอายุบางคนมีลักษณะรักเกียรติศักดิ์ของตนเอง บางคนกลับมีความสิ้นหวังในชีวิต มองไม่เห็นความหมายในการดำรงชีวิต ฯลฯ ช่วงเวลาในชีวิตของบุคคลจึงมีความสำคัญต่อพัฒนาการของบุคลิกภาพของบุคคลนั้น ๆ อย่างยิ่ง บุคลิกภาพของบุคคลประกอบด้วยสิ่งต่าง ๆ ดังนี้ • ด้านกายภาพ หมายถึง รูปร่างหน้าตา ทรวดทรง ท่าทาง การแต่งกาย การเดิน เป็นต้น บุคลิกภาพด้านกายภาพนี้เป็นสิ่งที่ผู้อื่นมองเห็นได้ • ด้านวาจา หมายถึง การใช้ถ้อยคำ น้ำเสียง ซึ่งผู้อื่นจะรับรู้ได้โดยการฟัง ลักษณะต่าง ๆ สะท้อน บุคลิกภาพด้านนี้เช่น การพูดไม่เข้าหูคน การพูดจากระโชกโฮกฮาก การพูดจาน่าฟัง เป็นต้น บุคลิกภาพทางวาจาที่ดีย่อมหมายถึงการพูดจาด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล น่าฟังเป็นมิตร และได้สาระ • ด้านสติปัญญา หมายถึง ความสามารถทางการคิดด้านปัญหา ไหวพริบ ความสามารถที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม คิดเป็น รู้จักคิด คิดแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี แสดงออกหรือสนองตอบผู้อื่นได้อย่าง “ทันกัน” และ “ทันกาล” • ด้านอารมณ์ หมายถึง การมีอารมณ์ดี คงเส้นคงวา ไม่วู่วามเอาแต่อารมณ์ ฉุนเฉียว โกรธง่าย หรือบางคนมีอารมณ์ร่าเริงมากกว่าอารมณ์อื่น หรือบางคน เครียด เศร้า ขุ่นมัว หม่นหมองอยู่เสมอ • ด้านความสนใจและเจตคติ แต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป บางคนไม่สนใจการเมือง ซึ่งบางคนมีความสนใจหลากหลายไม่สนใจเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว • ด้านการปรับตัว มีผลต่อลักษณะของบุคลิกภาพ ถ้าใช้แบบที่ดีมีพฤติกรรมที่เหมาะสม สังคมยอมรับ จะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ตรงกันข้ามถ้าปรับตัวไม่ดีวางตัวในสังคมไม่เหมาะสม ย่อมมีผลเสียต่อบุคลิกด้านอื่น ๆ ไปด้วย คำถามท้ายบท 1. บุคลิกภาพหมายถึงอะไร จะแก้บุคลิกและนิสัยที่ไม่ดีบางอย่างของตัวเราได้อย่างไร? 2. เราจะป้องกันตัวเราไม่ให้เป็นคนเปราะบางหรือมีนิสัยบางอย่างที่ไม่น่ารัก ไม่น่าคบได้อย่างไร? 3.ทำไมเรารู้สึกชื่นอกชื่นใจเมื่ออยู่ใกล้ ๆ คนบางคน?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น