วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

บทที่ 2 การพัฒนาลักษณะนิสัยและมนุษย์สัมพันธ์

กระบวนการในการพัฒนาหรือปรับปรุงบุคลิกภาพ และลักษณะนิสัยที่เกิดขึ้นแล้วให้เป็นไปตามแนวทางที่พึงประสงค์ของสังคม การเสริมบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยนั้นเป็นเรื่องที่ทำขึ้น ภายหลังจากที่บุคคลได้สร้างบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยมาแล้ว การจะเสริมบุคลิกภาพให้ได้ผลดีนั้นควรจะทำเสียแต่ในวัยต้นๆ ของชีวิตคือ ก่อนที่บุคลิกภาพจะฝังรากลึกจนกระทั่งยากต่อการปรับปรุง กระบวนการเสริมบุคลิกภาพอาจจะมีขั้นตอนดังนี้คือ 1. การสำรวจตนเอง เป็นกระบวนการที่บุคคลเริ่มสำรวจบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยของตนเอง เพื่อที่จะได้รู้ตนเองนั้นมีลักษณะบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยอย่างไรบ้างและ บุคลิกภาพที่มีอยู่นั้นควรกับความต้องการของสังคมหรือไม่ เคยมีปัญหาใดในการแสดงบุคลิกภาพบ้างหรือไม่ การสำรวจตนเองจะทำได้ใน 2 ทางคือ 1.1 การวิเคราะห์ตนเอง เป็นการที่บุคคลพยายามค้นหาองค์ประกอบบุคลิกภาพของตนเองเพื่อได้ทราบว่าองค์ ประกอบแต่ละอย่างนั้นมีความสมบูรณ์ถูกต้อง อย่างไรบ้างเมื่อแยกวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆ แล้ว ก็ควรจะประเมินสรุปบุคลิกภาพของตนเองว่าควรจะคงไว้ในส่วนใดและควรจะปรับปรุง ในส่วนใด ที่สำคัญคือผู้วิเคราะห์ตนเองจะต้องยอมรับในข้อบกพร่องเพื่อการแก้ไขต่อไป ด้วย 1.2 การรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น โดยปกติแล้วมนุษย์จะมีความลำเอียงเข้าข้างตนเองเสมอๆ ดังนั้นการวิเคราะห์ตนเองเพียงประการเดียว อาจจะยังไม่ได้ข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอในการปรับปรุงบุคลิกภาพ จึงจำเป็นจะต้องประเมินตนเองโดยการอาศัยการมองของผู้อื่นว่าเขาคิดอย่างไร ต่อบุคลิกภาพของเรา เพื่อจะได้นำส่วนที่บกพร่องมา แก้ไขต่อไป 2. การรู้จักตนเอง เมื่อบุคคลสำรวจตนเองได้ข้อมูลมากเพียงพอแล้ว บุคคลควรจะประมวลสรุปบุคลิกภาพเพื่อรู้จักตนเองใน 3 ลักษณะคือ 2.1 อุปนิสัยและนิสัยของตนเอง 2.2 ลักษณะส่วนรวมของตนเอง และ 2.3 บทบาทของตนเอง 3. การรู้จักปรับปรุงบุคลิกภาพและลักษณะนิสัย เป็น การนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ตนเองแล้วมาตรวจพบข้อบกพร่องต่างๆ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการปรับปรุง โดยการที่บุคคลจะต้องมองหาลักษณะบุคลิกภาพที่จะเป็นแบบอย่างที่จะใช้ในการ ปรับปรุงต่อไปแล้วพยายามเตือนตนเอง ให้ละทิ้งบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยเดิมที่บกพร่อง แล้วพยายามปฏิบัติตามแบบอย่างของบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยใหม่ การปรับปรุงบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและจะต้องมี ความตั้งใจจริง โดยตัวของบุคคลที่จะปรับปรุงบุคลิกภาพเองจะต้องให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษ ด้วยการยอมรับข้อบกพร่องของตนและผลที่มีต่อตนเองและผู้อื่นเป็นประการสำคัญ ทั้งต้องรู้จักแสวงหาหนทางที่จะช่วยให้ ตนเองได้รับรู้บุคลิกภาพและลักษณะนิสัยที่สร้างสรรค์อันควรต่อการเสริมสร้าง ให้เกิดขึ้น และที่สำคัญก็คือการส่งเสริมบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยดังกล่าวนี้ จะต้องไม่ไปกระทบกระเทือนต่อการมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวหรือความเป็นตัวของตัวเอง (ที่มา https://sites.google.com) ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพ มยุรี เจริญทรัพย์ และคณะ (2550,หน้า 127) ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพ ของศาสตราจารย์ดร. จรรยา สุวรรณทัต รองศาสตราจารย์ดร. ดวงเดือน พันธุมนาวิน และอาจารย์เพ็ญแข ประจนปัจนึก ซึ่งได้กล่าวถึงปัจจัยสำคัญในการพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์ว่ามี 3 ประเภทด้วยกัน 1. พันธุกรรม (heredity) หมายถึง ลักษณะต่าง ๆ ของบรรพบุรุษ ซึ่งถ่ายทอดมายังลูกหลานรุ่นต่อ ๆ มาด้วยวิธีการสืบพันธุ์ อิทธิพลของพันธุกรรมที่ปรากฏจะเห็นได้ชัดมาก ลักษณะทางร่างกาย เช่น รูปร่าง หน้า เพศ สีผม สีของดวงตา สีผิว ลักษณะโครงกระดูก นอกจากนี้ ยังมีอิทธิพลต่อปฏิกิริยาตอบโต้พื้นฐานของแต่ละบุคคล เช่น ระดับความไวในการตอบโต้ การรับรู้ 2. สิ่งแวดล้อม (environment) หมายถึง สภาพภายนอกซึ่งแยกออกจากตัวบุคคลเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลในการเสริมสร้างบุคลิกภาพของบุคคล สิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพอันดับแรก ได้แก่ บ้าน การอบรมเลี้ยงดู จะช่วยปูพื้นฐานบุคลิกภาพ เช่น เวลาหนาวมีคนห่มผ้าให้ ได้รับความรักเต็มที่ เด็กจะเกิดพัฒนาความรู้สึกไว้วางใจ มีทัศนคติที่ดีต่อคนรอบข้าง สิ่งแวดล้อมต่อมาที่มีอิทธิพลต่อการเสริมสร้างบุคลิกภาพ ได้แก่ โรงเรียน เพื่อน ครู สังคม วัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อต่าง ๆ 3. ช่วงเวลาในชีวิตของแต่ละบุคคล แสดงถึงระดับพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจ อันเกิดจากอิทธิพลร่วมระหว่างพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกลักษณะบุคลิกภาพจะเกิดขึ้นในช่วงชีวิตต่าง ๆ ของแต่ละบุคคล เช่น วัยทารก จะเป็นวัยที่เพาะลักษณะนิสัยความไว้วางใจ ซึ่งเป็นลักษณะบุคลิกภาพอันถาวรของบุคคลตลอดไป ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพ สามารถสรุปได้ว่า มีปัจจัยทั้งพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อบุคลิกภาพ อีกทั้งการพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์ไม่มีการหยุดนิ่ง เนื่องจากมนุษย์มีการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่เข้ามาในแต่ละช่วงของชีวิต บุคลิกภาพและความสำเร็จ นอกจากความรู้ เชาวน์ และความขยันขันแข็ง บุคลิกภาพเป็นสิ่งสำคัญยิ่งอีกอันหนึ่งที่ทำให้คนบรรลุความสำเร็จในอาชีพการงานต่าง ๆ คนที่พยายามที่จะสำเร็จเป็นฤาษีชีไพรเท่านั้นที่ไม่ต้องให้บุคลิกภาพเข้าช่วย เพราะอยู่นอกสังคม สมมติว่าคนคนหนึ่งมุ่งหวังจะมีความสำเร็จในการงาน เช่น การค้าหรือการปฏิบัติราชการในบางแผนก คน ๆ นี้ต้องพบกับคนนานาชนิดอยู่เป็นประจำ เขาจะต้องพยายามให้คนเหล่านี้มีปฏิกิริยาที่ดีต่อเขาและที่เป็นประโยชน์ต่อการงานของเขา เขาจะต้องทำให้ผู้บังคับบัญชาเห็นว่าเขาสมควรได้เลื่อนตำแหน่งหรือได้เงินเดือนขึ้น ถ้าการกระทำเช่นนี้ในครั้งแรกไม่สมหวัง เขาจะต้องดัดแปลงแต่งปรุงปฏิกิริยาส่วนรวมของเขาใหม่ เพื่อให้บุคลิกภาพของเขานำความสำเร็จมาให้ตามความปรารถนา ถ้าลองนึกดูให้ดีแล้ว คนทุกคนตกอยู่ในขบวนวิธีดัดแปลงแต่งปรุงบุคลิกภาพอยู่แทบทุกคาบในชีวิต ความเจริญก้าวหน้าของคนอยู่ที่การปรุงแต่งบุคลิกภาพให้เข้ากับสถานการณ์ที่แวดล้อมตนอยู่ ร่างกายของคนพัฒนาขึ้นเพื่อให้คนสามารถทำงานในหน้าที่ ที่ต้องเปลี่ยนไปตามวัยฉันใด บุคลิกภาพของคนก็ต้องพัฒนาขึ้นให้เหมาะสมแก่สถานการณ์แวดล้อมฉันนั้น พัฒนาการของบุคลิกภาพเป็นผลซึ่งเกิดจากการเรียนและการฝึกหัดในทุกๆด้าน ถ้าเราศึกษาบุคลิกภาพชั้นนำของโลก เช่น ประธานาธิบดีโรสเวลต์ จูเลียส ซีซาร์ จะเห็นได้ว่า อำนาจดึงดูดของบุคลิกภาพของคนเหล่านี้ ประกอบขึ้นด้วยพฤติกรรมต่างๆ ที่คนเหล่านี้ค่อยๆ ฝึกทำไปจนเป็นนิสัย นอกจากนี้เราจะเห็นได้ว่า ในระยะต้นๆ ของชีวิตของบุคคลเหล่านี้ เขาได้ดัดแปลง แต่ง ปรุง แบบสวนกับปฏิกิริยาต่าง ๆ อยู่เสมอ แบบอันไหนที่ไม่เหมาะและไม่นำความสำเร็จมาให้ คนเหล่านี้ก็ทิ้งเสีย และแต่ง ปรุงอันใหม่ ๆ ขึ้นมาเสมอ บุคลิกภาพของดาราภาพยนตร์คนสำคัญต่าง ๆ ก็ไม่คงที่ ต้องเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับความต้องการของมหาชนอยู่เสมอ ประยุกต์ใช้กับตนเอง แท้ที่จริงแล้ว บุคลิกภาพควรเริ่มจากตนเองก่อน เพราะเนื่องจากพฤติกรรมของแต่ละบุคคลนั้นก็มีความซับซ้อนและแตกต่างกันออกไปตามสถานการณ์ บางบุคคลยังไม่ทราบบุคลิกภาพที่แท้จริงของตนเอง มีผลต่อการทำงาน การอยู่ในสังคม ทฤษฎีที่จะนำมาปรับใช้เพื่อให้เรารู้จักตนเองมากขึ้น คือ ทฤษฎีตัวตน (Self Theory) ของ คาร์ล โรเจอร์ การรับรู้ต้องเริ่มจากรับรู้ตนเองให้ถูกต้องก่อน ให้มองตนเองอย่างถูกต้องแท้จริง นำข้อดีของตนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แก้ไขข้อลบ หรือถ้ายังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยน ก็ให้รับรู้และหลีกเลี่ยงที่จะเกิดข้อเสียนั้นให้น้อยที่สุด ตามทฤษฎีบอกเอาไว้ว่า บุคคลที่มีประสบการณ์ได้รับการเลี้ยงดูจากครอบครัวที่พ่อแม่ให้ความรักกับลูกโดยปราศจากเงื่อนไข จะมีตัวตนทั้ง 3 ตรงกันค่อนข้างสูง แต่บุคคลแต่ละคนก็ได้รับการเลี้ยงดูในวัยเด็กที่ต่างกัน การมองย้อนไปแล้วนำมาช่วยปรับแก้ไขตนเองในปัจจุบันก็สามารถช่วยได้เช่นกัน ดังนั้นขอเสนอวิธีการปรับใช้ในแต่ละหัวข้อ ดังนี้ 1. ตนที่ตนมองเห็น (Self Concept) รวบรวมข้อมูลตนตามที่ตนมองเห็นออกมาก่อน อาจจะจดบันทึกข้อมูลไว้ตามที่นึกได้ ไม่จำเป็นต้องนึกให้หมดในครั้งเดียว เพราะบางทีเราก็ลืมเรื่องบางอย่างของตนเองได้ มองตามที่เราเคยเห็นว่าตนเองเป็นอย่างไรมาก่อน ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงที่สุด เริ่มจากรูปร่างหน้าตาภายนอก ลักษณะนิสัยทั่วไป เช่น พูดน้อย ลักษณะนิสัยเวลาเข้าสังคม อาจจะแยกด้วยว่า สังคมที่ทำงาน สังคมเพื่อนมหาลัย เพราะคนหลายคน ตนในแต่ละกลุ่ม แต่ละสถานการณ์อาจจะแสดงไม่เหมือนกัน เช่น ปกติขี้อาย แต่พอเข้ากลุ่มเพื่อนแล้ว พูดเก่ง เป็นต้น 2. ตนตามที่เป็นจริง (Real Self) คือ ตัวตนตามข้อเท็จจริง ข้อมูลคล้ายกับตนที่มองเห็น แต่เป็นสิ่งที่ยากเพราะบางคนอาจจะเข้าข้างตนเอง ไม่ยอมรับรับตามที่เป็นจริงเพราะรู้สึกด้อยกว่าคนอื่น วิธีที่ช่วยได้ นอกจากตนเองมองตนเองแล้ว อาจจะสังเกตจากที่คนอื่นพูดถึงเรา อาจจะเป็นเพื่อนสนิท แต่ต้องมีการกลั่นกรองด้วย เพราะบางคนไม่ชอบเรา อาจจะพยายามพูดให้เราด้อยกว่า บางคนกลัวเราเสียในพูดแต่สิ่งที่ดี ต้องพยายามที่จะตัดข้อมูลที่เป็นเท็จทั้งจากตัวเรา และคนรอบข้างออก การมองตนตามที่เป็นจริงก็ต้องใช้ระยะเวลา ไม่จำเป็นต้องเร่งมองให้ออกในครั้งเดียว 3. ตนตามอุดมคติ (Ideal Self) คือตัวตนที่อยากมีอยากเป็น เป็นข้อมูลที่ทุกคนมีอยู่ในใจอยู่แล้ว แต่บางคนอาจจะปฏิเสธสิ่งที่อยากเป็น แล้วเลือกอย่างอื่นที่ง่ายกว่า ทั้งที่จริงไม่ชอบ เช่น เป็นคนพูดไม่เก่ง อยากพูดเก่งเวลานำเสนองาน แต่เคยลองครั้งแรกแล้วทำไม่ได้ก็สร้างเกราะขึ้นมาด้วยการปฏิเสธสิ่งนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเพราะข้อมูลที่ได้ก็จะไม่ถูกต้อง ทำให้เราไม่สามารถปรับ ตัวตนของเราได้ ตามทฤษฎีบอกว่าถ้าตัวตนทั้ง 3 ลักษณะ ค่อนข้างตรงกันมาก จะทำให้มีบุคลิกภาพมั่นคง แต่ถ้าแตกต่างกันสูง จะมีความสับสนและอ่อนแอด้านบุคลิกภาพ ดังนั้นเมื่อเราค้นพบตัวตนทั้ง 3 อย่างพบแล้ว เราก็ต้องนำมาปรับเพื่อที่ให้เรามีบุคลิกภาพมั่นคง ตัวอย่าง การพัฒนาตัวตนของนาย ก ตนที่ตนมองเห็น คือ พูดน้อย เก็บตัว ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม ทำให้ไม่มีผลงาน เพราะไม่กล้าที่จะนำเสนอ ตนตามที่เป็นจริง คือ มีความคิดสร้างสรรค์ แต่กลัวว่านำเสนอไปแล้วจะผิด ทำให้ไม่กล้าเสนอ ตนตามอุดมคติ คือ อยากเป็นคนกล้าแสดงออก เข้าสังคมเก่ง จะได้มีโอกาสเลื่อนตำแหน่ง นาย ก มีตัวตนที่ไม่ต่างกันมากนัก ใช้วิธีการปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพเข้าช่วย พยายามฝึกพูด หรือเมื่อคิดงานได้ก็พยายามหัดนำเสนอ และพยายามเข้าสังคม อาจจะไปกับเพื่อนสนิท เพื่อหาเพื่อนใหม่อาจจะเป็นสมาชิกคลับต่าง ๆ เพราะถ้าเราสามารถพูดกับเพื่อนใหม่ได้โดยไม่ประหม่าก็จะทำให้เรากล้าแสดงออกมากขึ้น เป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาบุคลิกภาพคือ “ตัวตนที่แท้จริง” การปฏิบัติตามตัวตนเป็นสิ่งที่บุคคลแสดงจริง เป็นสิ่งที่จำเป็นสูงสุด บุคคลที่ยอมรับความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเขาได้ ทำให้เขาได้รับความสุขและสมปรารถนา พวกเขาสามารถเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้รับการยอมรับจากคนอื่นและเป็นอิสระไม่ต้องพึ่งพาใคร (Ford,1991) สรุป บุคลิกภาพนั้นเป็นสิ่งกำหนดต่อการประพฤติปฏิบัติของบุคคล ทั้งในการใช้ชีวิตประจำวัน และเป็นปัจจัยต่อความสำเร็จของงาน ซึ่งประกอบไปด้วย เชาว์ปัญญา ซึ่งช่วยในการวิเคราะห์วางแผน การมีเหตุผล แรงจูงใจ ส่วนทางด้านการวางตน การแต่งกาย กริยาท่าทาง กลายเป็นภาพลักษณ์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความน่าเชื่อถือ และความแตกต่างของทฤษฎี ถ้ามีการศึกษาให้เข้าใจแล้ว เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น เพื่อให้การดำเนินชีวิตที่ดีและมีประสิทธิภาพ (ที่มาhttp://www.baanjomyut.com) แนวทางสำหรับการสร้างทัศนคติที่ดี 1. ทำไมจึงไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน ถ้าถามว่าอะไรคือต้นเหตุของความไม่สำเร็จในการเรียน คำตอบที่ได้จากการวิจัยและวิเคราะห์ของนักแนะแนวการศึกษาและนักจิตวิทยาหลายคน พบว่าผู้ที่เรียนไม่ค่อยประสบความสำเร็จหรือเรียนแบบไร้ประสิทธิภาพ ได้แก่ผู้เรียนที่มีลักษณะดังนี้ 1. เป็นคนที่ชอบละทิ้งงานไว้ก่อนแล้ว จึงค่อยทำเมื่อถึงนาทีสุดท้าย 2. เสียสมาธิ หันเห ความสนใจไปจากการเรียนได้โดยง่าย 3. เมื่อทำงานที่ยากๆ จะสูญเสียความสนใจ หรือขาดความมานะพยายาม 4. ไม่ได้เรียนเพื่อต้องการความรู้ แต่ใช้เรื่องของการสอบ เป็นเครื่องกระตุ้นการเรียน 5. ไม่มีการวางแผนและตารางการทำงานที่ชัดเจน จะเห็นว่าสาเหตุของความล้มเหลวในการเรียนทั้งห้าข้อนั้นไม่ได้เกิดจากหัวสมองหรือความฉลาดของผู้เรียนเลย แต่เกิดจากความไม่มีวินัย มุ่งมั่น ขยัน และอดทนของตัวผู้เรียนเอง รวมถึงไม่มีการวางแผนที่ดีขณะเรียนด้วย ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จะคอยสะกิดเตือนใจ ให้เกิดความมานะอดทน และเสนอแนวทางเพื่อให้นักเรียนนักศึกษาเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักเรียนนักศึกษาทราบไหมว่า ทำไมชาวยิวจึงเป็นชนชาติที่ได้รับการยกย่องว่าฉลาดที่สุดในโลก เพราะชาวยิวให้ความสำคัญต่อการศึกษาเล่าเรียนมาก จนมีคำกล่าวในหมู่ชาวยิวว่า “หากท่านไม่ยอมทนความยากลำบากในการเรียน ท่านจะต้องทนความทุกข์ยากจากความโง่เขลา” 2. สร้างทัศนคติที่ดี การที่คนเราจะทำอะไรให้ได้ดีและมีความสุข สิ่งนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่เรารักและต้องการจะทำ ฉะนั้นนักเรียนนักศึกษาจะต้องค้นหาความต้องการที่ชัดเจนของตัวเอง สร้างทัศนคติที่ดีต่อตัวเองและการเรียน เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะก้าวเดินไปสู่จุดหมายที่หวังไว้ 2.1 ทางเลือกของชีวิต คนส่วนใหญ่มักจะกล่าวว่า “พระพรหมเป็นผู้ลิขิตทางเดินของชีวิต” ประโยคนี้ทุกท่านคงเคยได้ยิน และมีหลายท่านได้เชื่อตามนั้น แท้จริงแล้วทางเดินชีวิตของเราไม่ควรจะให้พระพรหมหรือแม้แต่พ่อแม่ของเราเป็นผู้ลิขิต (พ่อ-แม่ เป็นผู้ให้ชีวิตเรา เราควรกตัญญูต่อท่าน แต่ไม่ควรให้ท่านมากำหนดทางเดินชีวิตของเราใช่ไหมครับ) แล้วชีวิตเราเป็นของใครล่ะ ชีวิตเราก็เป็นของเราเองไงครับ พระพรหมสามารถลิขิตชีวิตเราได้เฉพาะวันเกิดและวันตายเท่านั้น(พระพรหมในที่นี้หมายถึง บุญและบาป อกุศลของคนๆ นั้น) ตรงกลางระหว่างเกิดและตายจะให้เป็นอย่างไรนักเรียนนักศึกษาควรวาดใส่ลงไปเอง ฉะนั้นทางเดินของชีวิตเรา เราควรเลือกเอง ค้นหาตัวเอง ค้นหาว่าเราชอบอะไร อยากเป็นอะไร อยากทำอะไร แค่อย่างเดียวเท่านั้น นักเรียนนักศึกษาจะไปได้ และไปได้ดีด้วย ตัวอย่างเช่น บิลเกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟ มหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของโลก เขามีความสนใจซอฟต์แวร์ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา และเริ่มต้นทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขณะเรียนในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขากับเพื่อนชื่อ พอล อัลเลน ช่วยกันคิดและพัฒนาโปรแกรมเพื่อใช้กับคอมพิวเตอร์ประกอบเอง และตั้งคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนเราทุกคนมีคอมพิวเตอร์ราคาถูกใช้กัน ซึ่งในขณะนั้นเขายังเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัย แต่พอเกิดความคิดนั้นขึ้นมาก็เลิกเรียนเพื่อออกมาสานฝัน โดยร่วมกันจัดตั้งบริษัท ไมโครซอฟ ในปี ค.ศ. 1975 และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงระดับโลกและการสร้างกิจการจนประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ (แต่เด็กไทยบางคนสอบเข้าจุฬาฯ ไม่ได้แขวนคอตาย อนิจจา) หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือ โซอิจิโร ฮอนด้า นักยนตกรรมเอกของโลก ชีวิตในวัยเด็กของเขายากจนมากครอบครัวมีอาชีพตีเหล็กและซ่อมจักรยาน ชีวิตของฮอนด้านั้นรักเครื่องยนต์กลไกมาตั้งแต่เด็กมีความฝังจิตฝังใจว่าอยากจะเป็นช่าง ใส่เครื่องแบบช่างให้ได้ เมื่อจบชั้นประถมสุดท้ายก็ไม่ได้เรียนต่อ เดินทางเข้ากรุงโตเกียว เข้าทำงานในร้านซ่อมรถยนต์ แต่เขาไม่มีโอกาสทำงานที่เขารัก หน้าที่แรกคือ เลี้ยงลูกเจ้าของอู่ ทนอยู่เดือนกว่าช่างเกิดขาด จึงได้รับหน้าที่เป็นลูกมือช่างจากนั้นด้วยใจรักงานด้านเครื่องยนต์เป็นทุนเดิม จึงมุ่งมั่นทำงานทุกอย่างที่ช่างให้ทำ เมื่อทำมากขึ้นประสบการณ์ก็แก่กล้าในที่สุดฮอนด้าก็กลับบ้านไปเปิดร้านซ่อมของตัวเองบริการลูกค้าอย่างดีที่สุด ทำให้กิจการฮอนด้าขยายผลไปเรื่อย ๆ ในที่สุดจึงเกิดเป็นบริษัทฮอนด้ามอเตอร์ซึ่งมีสาขาทั่วโลก การเรียนก็เช่นเดียวกันเมื่อเรารู้ว่าเราชอบอะไร ให้มุ่งไปและเลือกเรียนในสาขานั้น แต่อย่าลืมศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน เช่น สามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงกว่าในสาขาใดได้บ้าง สถานประกอบการหรืองานที่รองรับหลังจากการจบการศึกษามีมากน้อยเพียงใด หากสาขาที่เราชอบมีคนเรียนจำนวนมาก มีงานรองรับน้อย เราจะได้เตรียมตัวเพื่อที่จะทำให้ตัวเองมีอะไรที่โดดเด่นกว่าคนอื่นหรืออาจจะหาแนวทางประกอบอาชีพอิสระ อีกทั้งสาขาวิชาเดียวกันที่เปิดสอนต่างสถาบันการศึกษาจะมีจุดเด่นและจุดด้อยที่แตกต่างกันออกไป ควรจะใช้เวลาตรวจสอบสักนิด เพื่อไม่ให้เสียเวลาเปลี่ยนแปลงสาขาที่เรียนในภายหลัง 2.2 สร้างทัศนคติที่ดีต่อตัวเอง คนเรามีหลายประเภท ตั้งแต่คนที่ขาดความมั่นใจในตัวเองจนถึงประเภทที่มีอัตตาสูง อะไรก็ตามไม่ว่ามากไปหรือน้อยไปมันไม่ดีทั้งนั้น องค์ศาสดาเอกแห่งศาสนาพุทธท่านสอนให้เดินทางสายกลาง คนที่มีอัตตาหรืออีโก้ (Ego) สูงไม่ค่อยน่าเป็นห่วง เพราะโดยปกติแล้วคนพวกนี้ล้วนแล้วแต่เป็นคนเก่ง ซึ่งอีโก้ของเขาก็จะทำให้เขาเป็นทุกข์ตามระดับของอีโก้ที่เขามีตามคำของพระท่านนั้นแล แต่กลุ่มที่น่าห่วงก็คือกลุ่มที่ไม่มั่นใจในตัวเอง ชอบดูถูกตนเอง ชอบกล่าวหาตัวเอง ว่าไม่เก่ง สมองไม่ดีบ้าง ทำไม่ได้บ้าง ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้เริ่มต้นลงมือทำ แค่คิดก็จบกันเสียแล้ว ไม่ได้จะให้นักเรียนนักศึกษามีความคิดที่จะมีอีโก้หรือเข้าข้างตัวเอง แต่ต้องการให้มีทัศนคติที่ดีต่อตัวเอง รู้จักตัวเอง หาจุดบกพร่องของตัวเอง ถ้ารู้ว่าไม่เก่งก็ต้องเรียนให้หนักขึ้น สมองไม่ดีก็ต้องขยันขึ้น ลองลงมือทำในสิ่งที่คิดว่าเราทำไม่ได้ เพียรพยายามแล้วสักวันหนึ่งเราก็จะทำได้ ตัวอย่างที่ดีของความพยายามตัวอย่างหนึ่ง คือความเพียรพยายามของนักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง โทมัส เอดิสัน ผู้ประดิษฐ์คิดค้นหลอดไฟ คุณเชื่อไหมว่าเขาต้องทดลองมากกว่า 10,000 ครั้งจึงจะประดิษฐ์หลอดไฟสำเร็จ ถ้าเขาล้มเลิกตั้งแต่ครั้งที่ 71 เราคงไม่มีหลอดไฟใช้กันเป็นแน่ แล้วยังมีพวกมือไม่พายแต่เอาเท้าราน้ำพูดกับเขาว่า คุณล้มเหลวถึง 10,000 ครั้ง แต่เขากลับตอบว่านั้นไม่ใช่ความล้มเหลว แต่เป็นขั้นตอนของความสำเร็จต่างหาก ฉะนั้นคนที่เคารพตนเองนั้นจะประสบความสำเร็จและมีความสุขแน่นอน 2.3 สร้างทัศนคติที่ดีในการเรียน วันนี้อาจารย์งดสอนนะครับ เราจะได้ยินเสียงและสัมผัสได้ถึงความรู้สึกดีใจของนักเรียนนักศึกษาในห้องเรียน บรรยากาศขณะนั้นเหมือนคนถูกหวยรางวัลที่ 1 แต่ถ้าอาจารย์นัดสอนเพิ่มหรือสอนเกินเวลาความรู้สึกมันห่อเหี่ยว หดหู่ จะสอนไปทำไมเยอะแยะ ที่เรียนอยู่ก็ไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว เหมือนควายถูกจูงเข้าโรงฆ่าสัตว์ ไม่ใช่นักเรียนนักศึกษาทุกคนที่เป็นเช่นนี้แต่ก็ส่วนใหญ่ใช่หรือไม่ ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ คำตอบก็คือ นักเรียนนักศึกษามีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเรียนนั่นเอง แล้ว ทำอย่างไรจึงจะมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียน ความจริงก็ไม่ยาก แค่ปรับที่ใจของเราเองและต้องทำให้ใจเราเชื่อว่า การเรียนเป็นการฝึกฝนและพัฒนาตัวเราให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มากขึ้น พร้อมที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมโดยไม่ต้องพึ่งพาใคร ถ้าจะเปรียบเทียบชีวิตเป็นสนามรบ การเรียนก็คือการที่เราฝึกฝนใช้อาวุธต่าง ๆ ก่อนที่จะออกรบจริง ถ้านักเรียนนักศึกษาไม่เคยฝึกใช้อาวุธให้เป็นอย่างชำนาญก็มีโอกาสที่จะตายในสนามรบได้ (ทีมา พระศักดิ์ชัย ลังกาพินธุ์ ดร. จตุรงค์ ลังกาพินธุ์ สร้างทัศนคติที่ดี 13 ) 2.4 เตรียมรับความผิดหวัง เมื่อความผิดหวังมาเยือน เช่น ไม่สามารถที่จะสอบเข้าเรียนในสาขาที่ตนเองปรารถนา หรือในมหาวิทยาลัยที่หวังไว้ได้ ก็ขอให้คิดว่าเราไม่ใช่เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ของโลก ที่ไม่สามารถสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่เราต้องการได้ ยังมีคนอื่นอีกเป็นหมื่นเป็นแสนที่เป็นและเคยเป็นเหมือนเรา ปัจจุบันนี้มีมหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยเปิดอีกมากมายให้เราเลือกเข้าศึกษา เพราะฉะนั้นการสอบไม่ติดไม่ใช่เป็นทุกอย่างของชีวิตมันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ เท่านั้นเอง ลองใช้เวลาว่างไปศึกษาประวัติของเถ้าแก่หรือเจ้าของกิจการดังๆ บางท่านจบแค่ ป.4 หรือบางท่านไม่ได้เรียนมาเลยยังประสบความสำเร็จในชีวิตได้ หรือ ถ้าสอบเข้าเรียนได้แล้วแต่สอบตกหรือถูกรีไทด์ก็ขอให้คิดเช่นเดียวกัน ถ้าจิตใจยังไม่สงบให้ใช้หลักอานาปานสติ (กำหนดรู้ที่ลมหายใจ) พิจารณาลมหายใจเข้า-ออก เพื่อผูกจิตไว้กับลมหายใจเข้าและออก จะได้ไม่ฟุ้งซ่านออกไปภายนอกอันเป็นเหตุให้เครียดวุ่นวายเป็นทุกข์ วิธีการปฏิบัติ : นั่งนิ่งๆ ในท่าสบายที่สุด ไม่ต้องเกร็ง ไม่ต้องฝืน หลับตาครึ่งเดียวมองลงต่ำให้เห็นปลายจมูก นับลมหายใจ ลมหายใจเข้านับ 1, ออกนับ 1, 1-1 ที่ละคู่ 2-2 จนถึง 10-10 แล้วกลับมาตั้งต้น 1-10 ใหม่ ให้ใจสงบอยู่กับลมหายใจสักระยะหนึ่ง เลิกทำแล้วจะรู้สึกสดชื่นขึ้น เพื่อให้ความผิดหวังไม่เป็นพิษแก่จิตใจของเรา เมื่อเราผิดหวังหรือมีปัญหาใดๆ ก็ตามเปรียบเหมือนความมืดในขณะที่เราเริ่มปิดไฟ สายตาของเรายังไม่สามารถจะปรับเข้ากับความมืดได้เราจึงไม่สามารถมองเห็นสิ่งของที่วางอยู่ ถ้ารีบเดินไปก็อาจจะสะดุดหกล้มหัวแตกได้ แต่ถ้าหยุดรอสักพักตาของเราก็จะปรับให้เข้ากับความมืดและมองเห็นสิ่งของที่วางอยู่ เมื่อเดินไปก็คงไม่สะดุดหกล้มแน่นอน ดังนั้นเมื่อผิดหวังหรือมีปัญหาให้หยุดนิ่งสักนิด ตั้งสติ ทำจิตใจให้สงบ ให้เกิดสมาธิแล้วปัญญาในการแก้ปัญหาก็จะเกิดขึ้น(ที่มาพระศักดิ์ชัย ลังกาพินธุ์ ดร. จตุรงค์ ลังกาพินธุ์ ) ทัศนคติที่ดีในการทำงาน ซึ่งประกอบด้วย 7 หัวข้อ โดยในแต่ละหัวข้อนั้น นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ได้เสนอวิธีการฝึกถามตัวเองเพื่อให้สารมารถสร้างทัศนคติที่ดีได้ ลองตอบคำถามดู แล้วประโยชน์จะบังเกิดแก่ท่าน 1. มีความเชื่อมั่นใจในตนเอง คำถาม คือ เรื่องที่คิดว่าตนเองทำได้ดี คืออะไร (เพื่อสร้างความมั่นใจให้ตนเอง) เช่น คุณเปิ้ล บอกว่า คิดเชิงบวก คุณนก บอกว่าสามารปรับตัวได้เก่ง คุณต่าย บอกว่า จัดแบ่งเวลาได้เหมาะสม เป็นต้น 2. ไม่เกรงที่จะแสดงความคิดเห็น ถามในสิ่งที่ตนเองสงสัยหรือไม่เข้าใจ คนส่วนใหญ่ไม่กล้าถามลองเล่าบทเรียนที่ได้ถามแล้วได้ประโยชน์เล่าประสบการณ์แล้วได้ประโยชน์ในการทำงาน 3. สนใจและชอบการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆตลอดเวลา ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาได้เรียนรู้สิ่งใหม่อะไรบ้าง หรือ 1 เดือนข้างหน้าอยากเรียนรู้อะไร 4. ค้นหาเหตุผลในการคิดอย่างรอบคอบและรีบทำความคิดนั้นให้เป็นจริง ทบทวนใน 1 เดือนที่ผ่านมา เรานำความคิดหรืออยากจะทำ แล้วนำมาปฏิบัติได้บ้าง 5. ยอมรับฟังคำวิจารณ์ของคนอื่นอย่างเปิดใจ และนำมาปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น ทำเลยไม่ต้องตอบคำถาม 6. มีอุดมคติในการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมกับตัวเองและ เมื่อเกิดความผิดพลาดจะให้กำลังใจตัวเองเสมอๆ ลองคิดดูว่า ว่าเคยทำอะไรพลาดหรือไม่ 7. แข่งขันกับตัวเองไม่ยอมเสียเวลาที่จะเอาผลงานของตนเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น คำถามชวนคิด 1. เมื่อคุณได้อ่านเรื่องทัศนคติในการทำงานคุณมีความรู้สึกอย่างไร 2. คุณมีความเชื่อมั่นในการทำงานแค่ไหนลองสำรวจตัวเองหรือยัง 3. คุณสนใจและชอบการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆตลอดเวลาหรือเปล่า 4. คุณมีอุดมคติในการดำเนินชีวิตอย่างไร 5. คุณปล่อยเวลาให้ว่างโดยไม่เกิดประโยชน์เลยเป็นประจำหรือไม่อย่างไร ( ที่มา http://gotoknow.org/blog/preyaporn/8962) วิธีการปรับบุคลิกภาพโดยสร้างมนุษยสัมพันธ์ การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้อง สามารถทำงานร่วมกันกับทุกคนได้อย่างราบรื่น ผู้ต้องการประสบความสำเร็จในกิจการของตน จำเป็นต้องใจกว้างพอที่จะรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่น และนำมาใคร่ครวญเพื่อปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ การปรับปรุงตนเองอยู่เสมอจะทำให้เรารู้จักตัวเองเพิ่มมากขึ้น การนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ตนเองมาปรับปรุงแก้ไขโดยสร้างนิสัยและบุคลิกภาพที่ดีให้เกิดขึ้น ละทิ้งบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยเดิมที่บกพร่อง หันมาปฏิบัติตามแบบอย่างของบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยใหม่ที่สังคมยอมรับว่าดีด้วยความตั้งใจจริง แม้จะใช้เวลาก็ต้องอดทนและเอาใจใส่เป็นพิเศษ การวิเคราะห์ตนเองเพื่อปรับปรุงบุคลิกภาพจะเป็นไปตามแผนภูมิดังต่อไปนี้ แผนภูมิ 1. 4. 2. 3. แผนภูมิแสดงกระบวนการพัฒนาบุคลิกภาพ ที่มา : (ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ 2536 : 36) กระบวนการพัฒนาบุคลิกภาพ หรือปรับปรุงบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยให้เกิดขึ้นแล้วเป็นไปตามแนวทางที่พึงประสงค์ของสังคม โดยการสำรวจตนเองนั้น เป็นกระบวนการเบื้องต้นที่บุคคลอาจวิเคราะห์บุคลิกภาพของตนด้วยตนเอง หรือการรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น เพราะการวิเคราะห์ตนเองเพียงอย่างเดียว อาจจะยังไม่ได้ข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอในการปรับปรุงบุคลิกภาพ เนื่องจากบุคคลมักมีความลำเอียงเข้าข้างตนเองอยู่เสมอ จึงจำเป็นต้องอาศัยการมองของผู้อื่นเขาคิดอย่างไรต่อเรา หรือเขาปฏิบัติต่อเราอย่างไร เมื่อได้ข้อมูลแล้วจึงนำมาวิเคราะห์หาข้อแก้ไขปรับปรุงแสวงหาแนวทางที่จะช่วยตนเองให้มีบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยที่สร้างสรรค์ ปรับปรุงมิตรภาพ โดยสร้างมนุษยสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานและคนใกล้ชิด นักจิตวิทยาได้ศึกษาวิธีปรับปรุงมนุษยสัมพันธ์เพื่อสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นในการสมาคมกับผู้อื่นว่ามีแนวทางดังต่อไปนี้ 1. จงเป็นคนที่เรียบง่าย ไม่จู้จี้จุกจิกเกินไป ไม่เรื่องมาก สามารถร่วมกิจกรรมกับบุคคลอื่นได้อย่างสนุกสนาน อย่าทำตนเป็นคน “ยาก” เป็นต้นว่า สิ่งนั้นก็ไม่รับประทาน กิจกรรมนี้ก็ไม่ชอบ ซึ่งจะก่อความรำคาญให้บุคคลอื่น 2. ให้ความสนใจในผู้อื่นอย่างแท้จริง โดยควรให้ความสนใจในความเป็นไปของผู้ที่ท่านคบหาสมาคมด้วย เช่น สนใจในทุกข์ สุข และกิจกรรมต่าง ๆ ของเขา ถ้าเขาหายไปนานผิดสังเกต ควรไต่ถามติดตามข่าวคราว ถ้าเขามีทุกข์ร้อนอันใดจะได้ช่วยเหลือกันไม่ใช่เป็นลักษณะต่างคนต่างอยู่ตัวใครตัวมัน ถ้าเป็นเช่นนั้นความผูกพันก็จะไม่เกิดขึ้น มิตรภาพอันลึกซึ้งจะไม่เกิด จะมีแต่เพียงความผิวเผินในการอยู่ร่วมกันเชิงสังคมเท่านั้น 3. เห็นคุณค่าของผู้อื่น ให้การยอมรับแก่เขา ความต้องการของมนุษย์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การต้องการความยอมรับจากสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านความสามารถ การแต่งกายรูปร่างหน้าตา ท่วงที ความมีน้ำใจ ฉะนั้นจงหาข้อดีหรือข้อเด่นของบุคคลอื่น แสดงการยอมรับชื่นชมแต่การชมนั้น ต้องชมอย่างงจริงใจ อย่าเสแสร้าง การเสแสร้งจะเป็นตัวทำลายมิตรภาพที่สำคัญ ทุกคนต้องการการยอมรับ การยอมรับจะทำให้เขาภาคภูมิใจและเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง ดังนั้น การเห็นคุณค่าและยอมรับผู้อื่นจะช่วยให้ผู้นั้นพัฒนาขึ้น และในเวลาเดียวกันเขาก็จะเกิดทัศนคติที่ดีต่อเราด้วยเท่ากับเป็นการทำให้มิตรภาพมั่นคงขึ้น 4. การทำความเข้าใจผู้อื่น เข้าใจสาเหตุแห่งพฤติกรรมของเขา โดยเข้าใจทั้งเรื่องราวและความรู้สึกของเขา จะช่วยรักษามิตรภาพไว้ได้ เช่น เมื่อเพื่อนมีสีหน้าบึ้งตึง พูดกับเราอย่างไม่เต็มใจ ถ้าเราไม่เข้าใจเราจะโกรธตอบ แต่ถ้ารู้ที่มาของพฤติกรรม เช่น เข้าใจว่าเขามีอารมณ์ขุ่นมัวเพราะปัญหาทางบ้านที่เขากำลังเผชิญอยู่ในขณะนั้น จะทำให้เราโกรธเขาไม่ลง กลับจะทำให้มีเมตตาอยากช่วยเหลือเขา นอกจากนั้นถ้าคิดในแง่ว่ามนุษย์มีข้อผิดพลาดได้ ฉะนั้นถ้าเขาทำสิ่งใดผิดโดยเฉพาะถ้าไม่ได้ตั้งใจ อย่าประนามเขา แต่ให้ข้อคิด และเตือนสติเขา 5. เต็มใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมในสังคม และชักชวนให้ผู้อื่นเข้าร่วมด้วย การเข้าร่วมกิจกรรมในสังคมจะทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกว่าตนมีส่วนร่วมในสังคม ดังนั้น จึงควรเข้าร่วมกิจกรรมของสังคม เช่น ในการประชุมเราควรร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะสิ่งที่จะก่อประโยชน์แก่องค์การนั้นและเต็มใจให้ความร่วมมือ และถ้าสังเกตพบว่ามีคนในที่ประชุมไม่แสดงความคิดเห็นไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมใด ควรสนับสนุนให้เขาได้พูดหรือได้ร่วมในกิจกรรมด้วยการได้มีส่วนทำกิจการที่มีจุดประสงค์ร่วมกัน จะทำให้ตัวเราเองและบุคคลนั้นเกิดความรู้สึกว่าตนมีส่วนผูกพันอยู่ในสังคมเดียวกัน และในเวลาเดียวกันเขาก็จะเกิดความรู้สึกผูกพันกับเราด้วย 6. เป็นมิตรในยามยาก เมื่อเพื่อนประสบความทุกข์หรืออุปสรรคในชีวิตจงแสดงความเห็นใจ และให้กำลังใจเขา หรือถ้าช่วยเขาได้ในด้านอื่นจงช่วยอย่างจริงจัง การเป็นมิตรในยามยากสัมพันธภาพอันลึกซึ้งจะเกิดขึ้นได้ 7. ทำให้ผู้อื่นรู้สึกว่าเขามีความหมายต่อเรา เป็นต้นว่าเพื่อนปรับทุกข์ เขาทำให้เรามีความสุข เมื่อเขารู้สึกว่าเขามีความสำคัญต่อเรา เขาจะรู้สึกผูกพันกับเรา ดังนั้นควรให้โอกาสเพื่อนได้ให้ความช่วยเหลือเราบ้าง แม้จะเป็นสิ่งเล็กน้อย 8. รักษาความลับได้ เมื่อเพื่อนมาปรับทุกข์ เล่าเรื่องราวและระบายความทุกข์ของเขาให้ฟัง จงรักษาความลับของเขา อย่าเล่าให้ผู้อื่นฟัง การรักษาความลับจะช่วยให้เกิดความไว้วางใจกัน 9. ทำตนให้เป็นคนร่าเริงแจ่มใส คนที่ร่าเริงจะมีคนอยากคบค้าสมาคมด้วยมากกว่าคนที่เจ้าทุกข์หรือเจ้าอารมณ์ แต่บางคนอาจโต้แย้งว่าบุคคลที่มีปัญหาชีวิต ชีวิตของเขาเต็มไปด้วยขวากหนาม จะให้เขาทำตนร่าเริงได้อย่างไร ปัญหาของแต่ละคนนั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกคนเคยเผชิญปัญหามาแล้ว และในอนาคตก็จะมีปัญหาให้เผชิญอีก แต่ละคนต้องพยายามขจัดปัญหาของตน เป็นต้นว่า ถ้ามีแม่ที่จู้จี้ขี้บ่น หรือเวลาแม่บ่นอย่าโต้ตอบ เพราะจะทำให้เหตุการณ์ลุกลามหนักขึ้น หรือถ้ามีรายได้น้อยก็ควรประหยัดและแสวงหารายได้พิเศษ เพราะจะทำให้เหตุการณ์ลุกลามหนักขึ้น หรือถ้ามีรายได้น้อยก็ควรประหยัดและแสวงหารายได้พิเศษ มีกำลังใจและความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงเศรษฐกิจของตน เมื่อมีหลักยึดและมีโครงการในชีวิตจะมองโลกสดใสขึ้น จิตใจชื่นบาน การแสดงความร่าเริงจะปรากฎออกมาเอง 10. มีอารมณ์ขัน พิจารณาตนเอง ผู้อื่นและสภาพการณ์ต่าง ๆ ในแง่ขบขันเสียบ้างไม่ทำตนเป็นคนเครียดอยู่ตลอดเวลา แต่ต้องระวังว่าการแสดงออกซึ่งอารมณ์ขันของเราจะต้องไม่กระทบกระเทือนจิตใจบุคคลอื่น คือไม่ใช่ทำให้ลักษณะเย้ยหยันผู้อื่น หรือทำให้เขาอับอาย 11. หลีกเลี่ยงการนินทาผู้อื่น เมื่อบุคคลอื่นทำสิ่งที่เราไม่เห็นด้วยหรือน่าตำหนิอย่าวิจารณ์เขาลับหลัง ควรจะพูดให้เขาฟังต่อหน้า ถ้าเขายินดีรับฟังคำวิจารณ์จากเรา และวิจารณ์เฉพาะการกระทำส่วนที่เราไม่เห็นด้วยเท่านั้น ไม่ใช่ในลักษณะว่าเขาเป็นคนไม่มีอะไรดีเลย และให้ข้อเสนอแนะแก่เขา ระวังอย่าให้เขาเกิดความรู้สึกต่ำต้อย และท้อแท้จากข้อวิจารณ์นั้น 12. หลีกเลี่ยงความอิจฉาริษยา ความอิจฉาคือ ความรู้สึกไม่พอใจที่เกิดขึ้นเมื่อคนหนึ่งคนใดมีบางอย่างดีกว่าหรือเหนือกว่าตน ส่วนความริษยาเป็นความไม่มั่นคงทางจิตใจที่เกิดขึ้นเนื่องจากรู้สึกว่ามีคนแย่งความรักหรือ ความชื่นชมไปจากตน และมีความมุ่งร้ายบุคคลนั้นด้วย ความอิจฉาริษยาเป็นอารมณ์ที่เป็นผลเสียแก่ตนเองและบุคคลอื่น ซึ่งควรขจัดอารมณ์นี้ออกไปบางคนอาจโต้แย้งว่าจะหลีกเลี่ยงความอิจฉาริษยาได้อย่างไร ในเมื่อมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ในบางครั้งเราอาจอิจฉาเพื่อนหรือบุคคลแวดล้อมที่ประสบความสำเร็จและมีสิ่งที่เหนือกว่าเรา ซึ่งมีวิธีแก้ไข ดังนี้ 12.1 พยายามสำรวจว่าเรามีสิ่งใดดีบ้าง ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคงทางด้านจิตใจ ความอิจฉาริษยาจะได้ลดน้อยลงหรือหมดไป และจะสามารถชื่นชมผู้อื่นได้บ้างเนื่องจากเกิดความมั่นคง ว่าเราก็มีดีไม่ใช่ด้อยไปกว่าเขาทุกด้าน 12.2 ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นที่เด่นหรือมีความสามารถ เช่น ชมรมของเราอาจร่วมกันจัดกิจกรรมพิเศษขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์หน่วยงานหรือชมรม การแบ่งหน้าที่กันตามความสามารถของแต่ละบุคคลจะทำให้เกิดผลงานร่วมกัน ถึงแม้ว่าบางคนอาจจะมีความเด่น เนื่องจากหน้าตาดี ฐานะดี หรือมีคุณวุฒิสูง แต่คนในกลุ่มก็จะไม่รู้สึกอิจฉาริษยาเพราะงานสำเร็จได้เพราะความร่วมมือของทุกคน แต่ละคนจึงต้องช่วยกันส่งเสริมความมั่นคงทางด้านจิตใจให้แก่ผู้ร่วมงานทุกคนโดยการแสดงความชื่นชมยกย่อง และชี้ให้เห็นข้อดีให้ตัวของเขาเอง เพื่อให้เขาเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นคนดีมีประโยชน์ของตนเอง 13. หลีกเลี่ยงการกล่าวถึงปมด้อยของผู้อื่น จงพยายามหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงปมด้อย ของผู้อื่น เพราะย่อมไม่มีใครในโลกมีความดีพร้อมสมบูรณ์ทุกอย่าง แต่ละคนย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสียทั้งสิ้น มนุษย์ทุกคนต่างไม่ต้องการรับคำตำหนิจากผู้อื่น โดยเฉพาะเป็นการตำหนิในสิ่งที่เป็นปมด้อยของเขาเช่น อ้วนไป ผอมไป เสียงแหบ รูปร่างเก้งก้าง ตาโปน ผมหยิกไม่เป็นระเบียบ หรือแม้ว่าความบกพร่องล่าช้า ในการเรียนรู้ของเขา ควรพูดถึงแต่จุดดีของเขาหากจะพูดถึงปมด้อยของเขาในบางครั้งเพื่อให้ข้อคิดและเตือนสติเขานั้นควรพูดด้วยความจริงใจ และมีความหวังดีต่อผู้อื่นนั้นอย่างแท้จริง มนุษยสัมพันธ์ จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในวงสังคม โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหรือเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานจะเสริมสร้างบุคลิกภาพ โดยใช้ความมีมนุษยสัมพันธ์เป็นเครื่องมือยังประโยชน์ให้แก่การปฏิบัติภารกิจและความก้าวหน้าในการดำเนินงานทั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน วิธีการปรับปรุงมนุษยสัมพันธ์จึงเป็นแนวทางที่นักประชาสัมพันธ์พึงปฏิบัติต่อผู้อื่น เพื่อความสำเร็จในการส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้แก่ตนเองและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน (อ้างอิง : รวิวงศ์ ศรีทองรุ่ง.2539.การพัฒนาบุคลิกภาพในการประชาสัมพันธ์.กรุงเทพฯ: สถาบันราชภัฎเพชรบุรี.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น