วันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2557

บทที่ 10 การใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร

ภาษา คือ สัญลักษณ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการสื่อความเข้าใจระหว่างกันของคนในสังคม ช่วยสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน ช่วยสร้างความสัมพันธ์ของคน ในสังคม ถ้าคนในสังคมพูดกันด้วย ถ้อยคำที่ดีจะช่วยให้คนในสังคมอยู่กันอย่างปกติสุข ถ้าพูดกันด้วยถ้อยคำไม่ดี จะทำให้เกิดความบาดหมางน้ำใจกัน ภาษาจึงมีส่วนช่วยสร้างมนุษยสัมพันธ์ ของคนในสังคม ภาษาเป็นสมบัติของสังคม ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารมี 2 ประเภท คือ วัจนภาษาและอวัจนภาษา 1. วัจนภาษา (verbal language) วัจนภาษา หมายถึง ภาษาถ้อยคำ ได้แก่ คำพูดหรือตัวอักษรที่กำหนดใช้ร่วมกันในสังคม ซึ่งหมายรวมทั้งเสียง และลายลักษณ์อักษร ภาษาถ้อยคำเป็นภาษาที่มนุษย์สร้างขึ้นอย่างมีระบบ มีหลักเกณฑ์ทางภาษา หรือไวยากรณ์ซึ่งคนในสังคมต้องเรียนรู้และใช้ภาษาในการฟัง พูด อ่าน เขียนและคิด การใช้วัจนภาษาในการสื่อสารต้องคำนึงถึงความชัดเจนถูกต้องตามหลักภาษา และความเหมาะสมกับลักษณะ การสื่อสาร ลักษณะงาน เป้าหมาย สื่อและผู้รับสาร วัจนภาษาแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ 1. ภาษาพูด ภาษาพูดเป็นภาษาที่มนุษย์เปล่งเสียงออกมาเป็นถ้อยคำเพื่อสื่อสารกับผู้อื่น นักภาษาศาสตร์ถือว่าภาษาพูดเป็นภาษาที่แท้จริงของมนุษย์ ส่วนภาษาเขียนเป็นเพียงวิวัฒนาการขั้นหนึ่งของภาษาเท่านั้น มนุษย์ได้ใช้ภาษาพูดติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นอยู่เสมอ ทั้งในเรื่องส่วนตัว สังคม และหน้าที่การงาน ภาษาพูดจึงสามารถสร้างความรัก ความเข้าใจ และช่วยแก้ไขปัญหา ต่าง ๆ ในสังคมมนุษย์ได้มากมาย 2. ภาษาเขียน ภาษาเขียนเป็นภาษาที่มนุษย์ใช้อักษรเป็นเครื่องหมายแทนเสียงพูดในการสื่อสาร ภาษา เขียนเป็นสัญลักษณ์ของการพูด ภาษาเขียนนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้บันทึกภาษาพูด เป็นตัวแทนของภาษาพูดในโอกาสต่าง ๆ แม้นักภาษาศาสตร์จะถือว่าภาษาเขียนมิใช่ภาษาที่แท้จริงของมนุษย์ แต่ภาษาเขียนเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารของมนุษย์ มาเป็นเวลาช้านาน มนุษย์ใช้ภาษาเขียนสื่อสารทั้งในส่วนตัว สังคม และหน้าที่การงาน ภาษาเขียนสร้างความรัก ความเข้าใจ และช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ในสังคมมนุษย์ได้มากมายหากมนุษย์รู้จักเลือกใช้ให้เหมาะสมกับบุคคล โอกาส และสถานการณ์ อวัจนภาษา ( non-verbal language) 1. ความชัดเจนและถูกต้อง กล่าวคือ ต้องเป็นภาษาที่เข้าใจตรงกัน ทั้งผู้รับสาร และ ผู้ส่งสาร และถูกต้องตามกฎเกณฑ์และเหมาะสมกับวัฒนธรรมในการใช้ภาษาไทย ดังนี้ 1.1 ลักษณะของคำ หน้าที่ของคำ ตำแหน่งของคำ และความหมายของคำ ซึ่งความหมายของคำมีทั้งความหมายตรง และความหมายแฝง 1.2 การเขียนและการออกเสียงคำ ในการเขียนผู้ส่งสารต้องระมัดระวังเรื่องสะกดการันต์ ในการพูดต้องระมัดระวังเรื่องการออกเสียง ต้องเขียนและออกเสียงถูกต้อง 1.3 การเรียบเรียงประโยค ผู้ส่งสารจำเป็นต้องศึกษาโครงสร้างของประโยคเพื่อ วางตำแหน่งของคำในประโยคให้ถูกต้อง ถูกที่ ไม่สับสน 2. ความเหมาะสมกับบริบทของภาษา เพื่อให้การสื่อสารบรรลุเป้าหมาย ผู้ส่งสารต้องคำนึงถึง 2.1 ใช้ภาษาให้เหมาะกับลักษณะการสื่อสาร เหมาะกับเวลาและสถานที่ โอกาส และบุคคล ผู้ส่งสารต้องพิจารณาว่าสื่อสารกับบุคคล กลุ่มบุคคล มวลชน เพราะขนาดของกลุ่มมีผลต่อการเลือกใช้ภาษา 2.2 ใช้ภาษาให้เหมาะกับลักษณะงาน เช่น งานประชาสัมพันธ์ งานโฆษณา งานประชุม ฯลฯ 2.3 ใช้ภาษาให้เหมาะสมกับสื่อ ผู้ส่งสารจะต้องรู้จักความต่างของสื่อและความต่าง ของภาษาที่ใช้กับแต่ละสื่อ ใช้ภาษาให้เหมาะสมกับผู้รับสารเป้าหมาย ผู้รับสารเป้าหมายได้แก่ กลุ่มผู้รับสารเฉพาะที่ผู้ส่งสารคาดหวังไว้ ผู้ส่งสารต้องวิเคราะห์ผู้รับสาร ที่เป็นเป้าหมายของการสื่อสาร และเลือกใช้ภาษาให้เหมาะสมกับผู้รับสารนั้น ๆ (ที่มาhttp://www.ipesp.ac.th/learning/thai/chapter2-3.html) ประเภทของอวัจนภาษา อวัจนภาษาที่ใช้สื่อสารโดยทั่วไปได้แก่ 1. สายตา (เนตรภาษา) การแสดงออกทางสายตา เช่น การสบตากันระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารก็มีส่วนช่วยในการตีความหมาย เช่น การสบตาแสดงออกถึงความจริงใจ การรี่ตาแสดงออกถึงความสงสัย ความไม่แน่ใจ ฯลฯ การแสดงออกทางสายตาจะต้องสอดคล้องกับการแสดงออกทางสีหน้า การแสดงออกทางสีหน้าและสายตาจะช่วยเสริมวัจนภาษาให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น และใช้แทนวัจนภาษาได้อย่างดี 2. กิริยาท่าทาง (อาการภาษา) การแสดงกิริยาท่าทางของบุคคล สามารถสื่อความหมายได้โดยไม่ต้องใช้คำพูด หรือใช้เสริมคำพูดให้มีน้ำหนักมากขึ้นได้ ได้แก่ กิริยาท่าทาง การเคลื่อนไหวร่างกายและอากัปกิริยาท่าทางต่าง ๆ สามารถสื่อความหมายได้มากมาย เช่น การเคลื่อนไหวมือ การโบกมือ การส่ายหน้า การพยักหน้า การยกไหล่ การยิ้มประกอบ การพูด การยักไหล่ การยักคิ้ว อาการนิ่ง ฯลฯ 3. น้ำเสียง (ปริภาษา) เป็นอวัจนภาษาที่แฝงอยู่ในภาษาพูด ได้แก่ สำเนียงของผู้พูด ระดับเสียงสูงต่ำ การเปล่งเสียง จังหวะการพูด ความดังความค่อยของเสียงพูด การตะโกน การกระซิบ น้ำเสียงช่วยบอกอารมณ์และความรู้สึก นอกจากนี้ยังช่วยแปลความหมายของคำพูด เช่น การใช้เสียงเน้นหนักเบา การเว้นจังหวะ การทอดเสียง สิ่งเหล่านี้ทำให้คำพูดเด่นชัดขึ้น การพูดเร็ว ๆ รัว ๆ การพูดที่หยุดเป็นช่วง ๆ แสดงให้เห็นถึงอารมณ์กลัว หรือตื่นเต้นของผู้พูด เป็นต้น 4. สิ่งของหรือวัตถุ (วัตถุภาษา) สิ่งของหรือวัตถุต่าง ๆ ที่บุคคลเลือกใช้ เช่น เครื่องประดับ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า นาฬิกา ปากกา แว่นตา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นอวัจนภาษาที่สื่อความหมายได้ทั้งสิ้น 5. เนื้อที่หรือช่องว่าง (เทศภาษา) ช่องว่างของสถานที่หรือระยะใกล้ไกลที่บุคคลสื่อสารกัน เป็นอวัจนภาษาที่สื่อสารให้เข้าใจได้ เช่น ระยะห่างของหญิงชาย พระกับสตรี คนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คนสองคนนั่งชิดกันบนม้านั่งตัวเดียวกัน ย่อมสื่อสารให้เข้าใจได้ว่า ทั้งสองคนมีความสนิทสนมเป็นพิเศษ เป็นต้น 6. กาลเวลา (กาลภาษา) หมายถึง การสื่อความหมายโดยให้เวลามีบทบาทสำคัญ เวลาแต่ละช่วงมีความหมายในตัว คนแต่ละคน และคนต่างวัฒนธรรมจะมีความคิดและความหมายเกี่ยวกับเวลาแตกต่างกัน เช่น การตรงต่อเวลาวัฒนธรรมตะวันตกถือว่ามีความสำคัญมาก การไม่ตรงต่อเวลานัดหมายเป็นการแสดงความดูถูก เป็นต้น 7. การสัมผัส (สัมผัสภาษา) หมายถึง อวัจนภาษาที่แสดงออกโดยการสัมผ้สเพื่อสื่อความรู้สึก อารมณ์ ความปรารถนาในใจของผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร เช่น การจับมือ การ แลบลิ้น การลูบศีรษะ การโอบกอด การตบไหล่ ซึ่งสัมพันธ์กับวัฒนธรรมของแต่ละสังคม เช่นคนไทยถือมิให้เด็กสัมผัสส่วนหัวของผู้ใหญ่ เป็นต้น หลักการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร การใช้ภาษาที่มีประสิทธิภาพนั้นต้องสามารถสื่อสารให้บรรลุวัตถุประสงค์และสร้างความประทับใจ แก่ผู้รับสาร ปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งคือการใช้ภาษาที่เหมาะสมกับการสื่อสาร ดังนั้นผู้สื่อสารควรศึกษาและพัฒนาทักษะการใช้ภาษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องประเภทของภาษา ความหมายของคำและประเภทของประโยค ภาษา ภาษา หมายถึง วิธีที่มนุษย์ใช้แสดงความรู้สึกและสื่อความคิดให้ผู้อื่นเข้าใจ ภาษาจำแนกตามวิธีการแสดงออกได้ ๒ ประเภท คือ ๑. วัจนภาษา คือ ภาษาที่ใช้ถ้อยคำ เสียงพูดหรือเครื่องหมายแทนเสียงพูดที่มนุษย์ตกลงใช้ร่วมกันในสังคมหนึ่ง ๆ ๒. อวัจนภาษา คือ ภาษาที่ไม่ใช่การพูดเป็นถ้อยคำ หรือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นสิ่งที่สามารถสื่อให้เกิดความหมาย ความรู้สึกนึกคิด ความเข้าใจตรงกัน เช่น ภาษาท่าทาง ภาษาใบ้ ภาษากาย มี ๗ ประเภท คือ ๒.๑ เทศภาษา อวัจนภาษาที่รับรู้ได้จากระยะห่างระหว่างบุคคลและสถานที่ที่ใช้ในการสื่อสารกัน เช่น การโน้มตัวเดินผ่านผู้ใหญ่ให้ห่างมากที่สุดเพื่อแสดงความมีสัมมาคารวะ ๒.๒ กาลภาษา อวัจนภาษาที่รับรู้จากช่วงเวลาในการสื่อสาร เช่น นักศึกษาเข้าเรียนตรงเวลา แสดงถึงความตั้งใจ เอาใจใส่ และให้เกียรติผู้สอน ๒.๓ เนตรภาษา อวัจนภาษาที่รับรู้ได้จากสายตา เพื่อแสดงอารมณ์ ความรู้สึก เช่น การหลบสายตา เพราะกลัว หรือเขินอาย หรือมีความผิดไม่กล้าสู้หน้า ๒.๔ สัมผัสภาษา อวัจนภาษาที่รับรู้จากการสัมผัส เช่น การโอบกอด การจับมือ ๒.๕ อาการภาษา อวัจนภาษาที่รับรู้จากการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น การไหว้ การยิ้ม การเม้มปาก การนั่งไขว่ห้าง การยืนเคารพธงชาติ ๒.๖ วัตถุภาษา อวันภาษาที่รับรู้จากการเลือกใช้วัตถุเพื่อสื่อความหมาย เช่น เครื่องประดับ การแต่งบ้าน การมอบดอกไม้ การ์ดอวยพร ๒.๗ ปริภาษา อวัจนภาษาที่รับรู้ได้จากการใช้น้ำเสียงแสดงออกพร้อมกับถ้อยคำนั้น ทำให้สามารถเข้าใจความหมายของถ้อยคำได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ช่วยเน้นให้เห็นถึงเจตนา หรือลักษณะของผู้ส่งสารว่าพอใจ โกรธ ฯลฯ เช่น ความเร็ว จังหวะ การเน้นเสียง ลากเสียง ความดัง ความทุ้มแหลม ในกรณีของภาษาเขียนอวัจนภาษาที่ปรากฏได้แก่ ลายมือ การเว้นวรรคตอน การย่อหน้า ขนาดตัวอักษร ฯลฯ การสื่อสารแต่ละครั้งย่อมใช้วัจนภาษาและอวัจนภาษาควบคู่กันไป ซึ่งอวัจนภาษาที่ใช้สัมพันธ์กับวัจนภาษาใน ๕ ลักษณะด้วยกัน คือ ๑. ตรงกัน อวัจนภาษามีความหมายตรงกับถ้อยคำ เช่น การส่ายหน้าปฏิเสธพร้อมพูดว่า “ไม่ใช่” ๒. แย้งกัน อวัจนภาษาที่ใช้ขัดแย้งกับถ้อยคำ เช่น การกล่าวชมว่า วันนี้แต่งตัวสวย แต่สายตามองที่อื่น ๓. แทนกัน อวัจนภาษาทำหน้าที่แทนวัจนภาษา เช่น การกวักมือแทนการเรียก การปรบมือแทนการกล่าวชม ๔. เสริมกัน อวัจนภาษาที่ช่วยเพิ่มหรือเสริมน้ำหนักของถ้อยคำเช่นเด็กบอกว่ารักแม่เท่าฟ้าพร้อมกับกางแขนออก ๕. เน้นกัน อวัจนภาษาช่วยเน้นหรือเพิ่มน้ำหนักให้ถ้อยคำ เช่น การบังคับเสียงให้ดังหรือค่อยกว่าปกติ คำ/ความหมายของคำ การใช้ภาษาให้ได้ผลดีจึงควรเริ่มต้นด้วยการศึกษาเรื่องคำ เพราะเป็นหน่วยสำคัญขั้นมูลฐานทางไวยกรณ์ พยางค์ หมายถึงเสียงที่เปล่งออกมาประกอบด้วยพยัญชนะ สระและวรรณยุกต์โดยจะมีความหมายหรือไม่ก็ได้ คำ หมายถึง เสียงที่มีความหมาย (พยางค์ + ความหมาย) ในภาษาไทย คำๆเดียวจะมีกี่พยางค์ก็ได้ การศึกษาเรื่องคำนั้นควรมีความรู้พื้นฐานเรื่อง ความหมายของคำ ให้ชัดเจนเพื่อให้เข้าใจและสามารถนำไปใช้อย่างถูกต้อง ในหัวข้อนี้จึงจะกล่าวถึงเรื่องความหมายของคำพอเป็นพื้นฐาน ดังนี้ ๑. ความหมายเฉพาะของคำ ๑.๑ ความหมายโดยตรง เช่น เด็กๆไม่ชอบแม่มดในนิทานเลย ฉันชอบกินก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นหมู ในคลองหน้าบ้านคุณยายมีปลาซิวมากมาย ๑.๒ ความหมายโดยนัย (ความหมายเชิงอุปมา) วันนี้ยายแม่มดไม่มาทำงานหรือ ข้อสอบวิชาภาษาไทยหมูจนหน้าเกลียด ฉันชอบเพลงใจปลาซิวมากๆเลย ๑.๓ ความหมายแฝง ร่วง ตก หล่น ลิ่ว ปลิว ฉิว เซ เก เฉ เบ้ โยเย้ ๑.๔ ความหมายตามบริบท คำกริยา ติด มีความหมายว่า จุดไฟ ใกล้บ้าน แปะ ฯลฯ ไฟบางดวง ติด บางดวงดับ บ้านเราอยู่ ติด กัน ติด รูปบนบัตรให้เรียบร้อย ฉัน ติด กาแฟมานานแล้ว ๑.๕ ความหมายนัยประหวัด ปัง /สีขาว / สีดำ / กา / หงส์ น้ำ / ไฟ ๒. ความหมายของคำเมื่อเทียบเคียงกับคำอื่น ๒.๑ คำที่มีความหมายเหมือนกัน (คำไวพจน์) สุนัข – หมา เท้า – ตีน ภรรยา – เมีย ดวงอาทิตย์ – พระอาทิตย์ – ทินกร – ไถง – สุรีย์ คำที่มีความหมายเหมือนกันบางครั้งก็ใช้แทนกันไม่ได้ เนื่องจาก เป็นคำสุภาพ – ไม่สุภาพ / ระดับาษา / รูปแบบหรือท่วงทำนองการเขียน ฯลฯ ๒.๒ คำที่มีความหมายตรงกันข้าม สะอาด – สกปรก เชื่องช้า – ว่องไว ๒.๓ คำที่มีความหมายร่วมกัน ส่งเสริม – สนับสนุน โปรด – กรุณา ตัด – ปาด – แล่ – หั่น – ฝาน แผ่ – เผยแผ่ – แพร่ – เผยแพร ๒.๔ คำที่มีความหมายแคบ – กว้างต่างกัน เครื่องครัว กระทะ จาน ชาม เขียง ฯลฯ เครื่องประดับ แหวน สร้อย กำไล ฯลฯ สัตว์ ช้าง ม้า วัว ควาย อึ่งอ่าง คางคก ประโยค ประโยค คือ ถ้อยคำที่มีเนื้อความสมบูรณ์ ประโยคโดยทั่วไปประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๒ ส่วน คือ ภาคประธาน และภาคแสดง ภาคประธาน คือ ส่วนที่เป็นผู้กระทำกริยาอาการ ภาคแสดง คือ ส่วนที่แสดงกริยาหรือส่วนที่แสดงอาการของภาคประธานให้ได้ ความสมบูรณ์ อาจประกอบด้วยกริยาคำเดียว หรือกริยาและกรรม ตัวอย่าง เช่น นกบิน นก (ภาคประธาน) บิน (ภาคแสดง) หมากัดแมว หมา (ภาคประธาน) กัด (ภาคแสดง) และแมว (กรรม) การจำแนกประโยคในภาษาไทย ประโยคในภาษาไทยแบ่งได้เป็น ๓ ลักษณะ คือประโยคความเดียว ประโยคความรวม และประโยคความซ้อน ๑. ประโยคความเดียว คือ ประโยคที่มีใจความเดียว ประกอบด้วยภาคประธานและภาคแสดง เช่น - เขาร้องไห้ - เด็กนอน - นักศึกษานิเทศศาสตร์ชั้นปีที่ ๑ ร่วมกันจัดนิทรรศการ เรื่องสิ่งตีพิมพ์กับการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ๒. ประโยคความรวม คือ ประโยคที่รวมเอาประโยคความเดียว ๒ ประโยคขึ้นไปไว้ด้วยกัน โดยมีสันธานเชื่อมประโยค ประโยคที่รวมกันนั้นอาจมีเนื้อความ คล้อยตามกัน (และ แล้ว.....จึง เมื่อ.....จึง พอ.....ก็ ทั้ง.....และ) ขัดแย้งกัน (แต่ ส่วน กว่า.....ก็ แม้.....ก็ ถึง.....ก็) ให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ มิฉะนั้น ไม่.....ก็.....) เป็นเหตุเป็นผลกัน (เพราะ..... เนื่องจาก.....จึง ดังนั้น.....จึง) เช่น ฉันไปดูหนัง และทานอาหารที่สยามสแควร์ จากนั้นก็กลับบ้าน กว่าฉันจะรักเขา เขาก็จากฉันไปแล้ว เธอต้องตั้งใจเรียนมิฉะนั้นจะสอบตก ๓. ประโยคความซ้อน คือ ประโยคที่มีประโยคย่อยเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของประโยคหลัก เช่น. ฉันเห็นคนถูกรถชนกลางถนน - ฉันเห็น - - ประธาน + กริยา - - - คนถูกรถชนกลางถนน - - กรรม – เช่น คนขายดอกไม้เป็นป้าของฉัน แม่เห็นลูกอ่านหนังสือ ผู้พิพากษาที่ฉันเคารพเป็นคนดีมาก คนไทยหวงแหนแผ่นดินไทยอันเป็นแผ่นดินเกิด พ่อทำงานหนักจนล้มป่วย แม่สั่งให้ฉันรับกลับบ้าน -------------------------------------------------- รายการอ้างอิง ๑.คณาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ภาษาไทย ๑. พิมพ์ครั้งที่๓. กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๘. ๒.คณาจารย์ภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. การใช้ภาษาไทย ๒. พิมพ์ครั้งที่๓. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๒. ๓. ผะอบ โปษกฤษณะ. ลักษณะสำคัญของภาษาไทย การเขียน-การอ่าน-การพูด-การฟังและราชาศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ: รวมสาส์น, ๒๕๔๑. ๔.ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. ภาษากับการสื่อสาร. นครปฐม : มหาวิทยาลัย ศิลปากร. ๒๕๔๐. เป็นต้น หลักการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ความหมายและความสำคัญของการสื่อสาร การสื่อสารคือการส่งข้อความต่างๆที่เป็นข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็นหรือการแสดงความรู้สึก จากผู้ส่งสารไปสู่ผู้รับสารด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง เพื่อให้ผู้รับสารรับรู้ เข้าใจความหมายของข้อความที่สื่อสารและตอบสนองกลับมา การสื่อสาร(ด้วยภาษา)เป็นพฤติกรรมของมนุษย์ มนุษย์ต้องอาศัยการสื่อสารเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุ วัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆและเพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่นๆในสังคม สังคม มีความซับซ้อนและประกอบด้วยคนจำนวนมากเท่าใด การสื่อสารก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น การอยู่ร่วมกับผู้อื่นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ เพราะมนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ตั้งแต่ในระดับครอบครัว เพื่อนฝูง ระดับชุมชน สังคม และประเทศ โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบัน เป็นยุคของโลกไร้พรมแดน ข้อมูลข่าวสารต่างๆจากทุกมุมโลกส่งผ่านถึงกันในเวลาอันรวดเร็ว โดยมีเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัย เช่น โทรศัพท์ โทรสาร โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ฯลฯ ผู้ที่รับทราบข้อมูลข่าวสารกว้างไกล ย่อมได้เปรียบ ดังนั้นมนุษย์จึงไม่สามารถอยู่ลำพังโดยปราศจากการติดต่อสื่อสารได้ ดังนั้นการสื่อสารจึงมีความสำคัญต่อมนุษย์ทั้งด้านการใช้ชีวิต การเรียนรู้การประกอบอาชีพ การเมืองการ ปกครอง สังคมและวัฒนธรรม ช่วยสืบทอดและพัฒนาวัฒนธรรม หากไม่มีการสื่อสารหรือทำกิจกรรมร่วมกัน มนุษย์คงสูญสิ้นเผ่าพันธุ์และอารยธรรมไปในที่สุด จุดประสงค์ของการสื่อสาร ผู้ส่งสาร ๑. แจ้งให้ทราบ ๒. สอน/ให้การศึกษา ๓. สร้างความบันเทิง /จรรโลงใจ ๔. โน้มน้าวใจ ผู้รับสาร ๑. เพื่อทราบ ๒. เพื่อเรียนรู้ ๓. เพื่อความบันเทิง / ความสุข ๔. เพื่อกระทำหรือตัดสินใจ องค์ประกอบของการสื่อสาร ๑. ผู้ส่งสาร ได้แก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เป็นผู้เริ่มต้นการติดต่อสื่อสาร ผู้ส่งสารที่ดีจะต้องมีจุดประสงค์ในการส่งสาร มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่ต้องการสื่อสารอย่างถ่องแท้ เข้าใจความพร้อมความสามารถของผู้รับสาร และเลือกใช้กลวิธีสื่อสารอย่างเหมาะสม ๒. ผู้รับสาร ได้แก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่รับรู้ข้อมูลจากผู้ส่งสาร ทำความเข้าใจกับข้อมูลที่ได้รับและมีปฏิกริยาตอบสนอง ผู้รับสารที่ดีจะต้องมีจุดประสงค์ในการรับสาร พร้อมรับข่าวสารต่างๆ มีสมาธิ และมีปฏิกริยาตอบสนอง ๓. สาร ( เรื่องราว ตัวข้อมูล สาระสำคัญที่ผู้ส่งสารส่งถึงผู้รับสาร ) มี ๓ ประเภท ๓.๑ สารประเภทข้อเท็จจริง สารที่เป็นองค์ความรู้ หลักเกณฑ์ หรือข้อสรุปที่ผ่านการพิสูจน์ทดลอง ค้นคว้าวิจัย มีเหตุและผลที่ยอมรับได้ว่าเป็นความจริง เชื่อถือและอ้างอิงได้ ๓.๒ สารประเภทข้อคิดเห็น สารที่เป็นความคิดเห็นอันเป็นลักษณะส่วนตัวของผู้ส่งสาร ผู้รับสารอาจเห็นด้วยหรือไม่ก็ มี ๓ ประเภท ๑. ข้อคิดเห็นเชิงประเมินค่า เป็นการบ่งชี้ว่าอะไรดี ไม่ดี มีประโยชน์หรือมีโทษอย่างไร ฯลฯ ๒.ข้อคิดเห็นเชิงแนะนำ เป็นการบอกกล่าวว่าสิ่งใดควรทำ ควรปฏิบัติ ปฏิบัติขั้นตอนอย่างไร และอาจ บอกถึงเหตุผลของการกระทำนั้นๆด้วย ๓. ข้อคิดเห็นเชิงตั้งข้อสังเกต เป็นการชี้ให้เห็นลักษณะที่แฝงอยู่ ซึ่งอาจถูกมองข้ามไป อาจสังเกตเห็น พฤติกรรมของบุคคล สัตว์ หรือสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น ตามมุมมองของผู้ส่งสาร ๓.๓ สารประเภทแสดงความรู้สึก สารที่แสดงความรู้สึกของมนุษย์ เช่น ดีใจ เสียใจ รันทด ตื่นเต้น เป็นต้น *** ผู้รับสารจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาและเรียนรู้ เพื่อแยกแยะเนื้อหาของสารให้ได้ว่าส่วนใดเป็นข้อเท็จจริงส่วนใด เป็นข้อคิดเห็น และส่วนใดเป็นความรู้สึกเพื่อให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น*** ๔. สื่อ ( ตัวกลางที่เชื่อมโยงสารจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร ) การสื่อสารแต่ละครั้งผู้สื่อสารจะต้องใช้ภาษาทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษาเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร นอกจากใช้ภาษาเป็นสื่อกลางแล้วยังมีสื่ออีก ๕ ประเภท ที่ช่วยให้การสื่อสารแต่ละครั้งประสบผลสำเร็จ ได้แก่ ๑. สื่อธรรมชาติ ๒. สื่อบุคคลหรือสื่อมนุษย์ ๓. สื่อสิ่งพิมพ์ ๔. สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ๕. สื่อระคน / สื่อเฉพาะกิจ ๕. ปฏิกิริยาตอบสนอง ปฏิกิริยาตอบสนองหรือผลของการสื่อสาร ได้แก่การที่ผู้รับสารมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อผู้ส่งสารโดย วิธีการใดวิธีการหนึ่ง การสื่อสารแต่ละครั้งจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ผู้สื่อสารจะสังเกตได้จากปฏิกิริยาตอบสนองของผู้รับสารว่า ตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้ส่งสารหรือไม่ การสื่อสารแต่ละครั้งจะประสบความสำเร็จได้ง่ายหากจุดประสงค์การสื่อสารของผู้สื่อสารตรงกัน จากองค์ประกอบการสื่อสารทั้ง ๕ องค์ประกอบ สามารถจำลองภาพกระบวนการสื่อสารได้ดังนี้ ประเภทของการสื่อสาร การสื่อสารมีทั้งการสื่อสารระหว่างเชื้อชาติ การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม การสื่อสารระหว่างประเทศซึ่ง ผู้สื่อสารจะต้องระมัดระวังเรื่องการใช้ภาษาในการสื่อสาร และหากจำแนกตามจำนวนของผู้สื่อสารสามารถแบ่งประเภทของการสื่อสารได้ ๕ ประเภท ๑. การสื่อสารภายในตัวบุคคล การสื่อสารของบุคคลคนเดียว และเป็นการสื่อสารที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล คือเป็นทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสาร เช่น การพูดกับตัวเอง การฝัน การนึกคิด ๒. การสื่อสารระหว่างบุคคล การสื่อสารตั้งแต่บุคคล 2 คนขึ้นไป ทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารสามารถแลกเปลี่ยนสารกันได้โดยตรงแบบตัวต่อตัว หรือแบบเผชิญหน้า เช่น การเขียนจดหมายโต้ตอบ การคุยโทรศัพท์ การบรรยายในชั้นเรียน(กลุ่มย่อย) ๓. การสื่อสารกลุ่มใหญ่ การสื่อสารระหว่างคนจำนวนมากที่รวมอยู่ในบริเวณเดียวกัน เช่น การหาเสียง การอภิปรายในหอประชุม โอกาสที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารจะแลกเปลี่ยนข้อมูลมีน้อยมาก ๔. การสื่อสารในองค์กร การสื่อสารระหว่างผู้ที่เป็นสมาชิกขององค์กรหรือหน่วยงาน เพื่อให้ภารกิจของหน่วยงานเป็นไปตามเป้าหมาย ๕. การสื่อสารมวลชน การสื่อสารกับคนจำนวนมากในเวลาเดียวกัน แต่ละคนอยู่ในที่ที่ต่างกัน โดยใช้สื่อที่เข้าถึงได้ในเวลารวดเร็ว เช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ปัญหา/อุปสรรคของการสื่อสาร องค์ประกอบของการสื่อสารแต่ละส่วนล้วนมีความสำคัญต่อกระบวนการสื่อสารทั้งสิ้น ดังนั้นผู้ที่ทำการสื่อสารจึงต้องตระหนักถึงอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระหว่างที่ทำการสื่อสาร และต้องพยายามลดอุปสรรคที่เกิดขึ้น เช่น ผู้ส่งสาร (ขาดความรู้ มีทัศนคติแง่ลบ ขาดความพร้อม วิเคราะห์ผู้รับสารผิดไป) ผู้รับสาร (ขาดความเข้าใจ คิดว่าตนมีความรู้แล้ว มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อผู้ส่งสาร-ตัวสาร คาดหวังในการสื่อ เกินไป) สาร (เลือกสารไม่เหมาะสม ซับซ้อน ยาก หรือง่ายเกินไป กลวิธีนำเสนอไม่เหมาะสม สารนั้นเป็นที่ทราบ โดยทั่วไปแล้ว ขาดความชัดเจน คลุมเครือ) สื่อ (ใช้สื่อไม่เหมาะสม ไม่มีประสิทธิภาพ ใช้ภาษาไม่เหมาะสม) สิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย เกิดมลภาวะ หลักการสื่อสารในชีวิตประจำวัน การสื่อสารมีหลายรูปแบบ เช่น การพูดคุยกับเพื่อนกับ การพูดในห้องประชุมซึ่งมีผู้ฟัง เป็นต้น การสื่อสารจึงเกี่ยวข้องทุกคน การพูด การอ่าน การเขียน และการฟัง เป็นทักษะสำคัญสำหรับการสื่อสารให้สัมฤทธิ์ผลผู้สื่อสารจึงควรฝึกพูดและสื่อสารให้เหมาะสมกับกาลเทศะ สามารถเลือกใช้ทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษาในการสื่อความหมายให้ชัดเจน เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดการยอมรับในสังคมยิ่งขึ้น ความสามารถขั้นพื้นฐานที่ผู้สื่อสารควรมี คือ ก. ทักษะการพูดที่ดี 1. การพูดในสิ่งที่ผู้ฟังอยากฟัง ในเนื้อหาที่ผู้ฟังอยากฟัง 2. ควรเลือกภาษาและอารมณ์ในการพูดเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและให้เกียรติผู้ฟัง 3. สามารถเลือกใช้สื่อที่ดีและมีประสิทธิภาพ ทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา 4. รู้จักกาลเทศะ ข. ทักษะการฟังที่ดี 1. ฟังอย่างเต็มใจและตั้งใจ 2. จับใจความโดยการแยกประเด็น ทัศนคติ และ ความรู้สึก 3. พูดโต้ตอบด้วยสีหน้าและท่าทางที่ดี จากนั้นพัฒนาให้เป็นผู้สื่อสารที่มีทักษะการอ่านและทักษะการฟังที่ดีต่อไป รายการอ้างอิง “การสื่อสาร”. กนกพร ปิมแปง .เข้าถึงข้อมูลได้จาก http://www.dpu.ac.th/artsciences/ge139/office/attach/1201842060.doc เมื่อ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๓. คณาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ภาษาไทย ๑. พิมพ์ครั้งที่๓. กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๘. คณาจารย์ภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. การใช้ภาษาไทย ๒. พิมพ์ครั้งที่๓. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๒. ผะอบ โปษกฤษณะ. ลักษณะสำคัญของภาษาไทย การเขียน-การอ่าน-การพูด-การฟังและราชาศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ: รวมสาส์น, ๒๕๔๑. ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. ภาษากับการสื่อสาร. นครปฐม : มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๔๐. เป็นต้น การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารและ หลักการสื่อสารในชีวิตประจำวัน อ.สุภารัตน์ ศุภภัคว์รุจารา.เข้าถึงข้อมูลได้จาก http://www.gened.siam.edu/index.php?option=com _content &view = article &id=36 เมื่อ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๖.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น